รายงานเสวนา: “สถาบันกษัตริย์ – รัฐธรรมนูญ – ประชาธิปไตย” ตอนที่ 3
Wed, 2010-12-15 17:25
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์: “มีแต่การอภิปรายปัญหาเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาเท่านั้น เราถึงจะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ในที่สุดแล้วจะลงเอยด้วยความรุนแรง ด้วยการนองเลือด เราต้องพูดกันตรงๆ ว่า สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ในอำนาจและสถานะแบบปัจจุบันนี้ไม่ได้...ต้องเปลี่ยน”
กลุ่มนิติราษฏร์ (นิติศาสตร์เพื่อราษฏร) จัดอภิปรายเรื่อง “สถาบันกษัตริย์ – รัฐธรรมนูญ – ประชาธิปไตย” ในวันศุกร์ที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๕๓ เวลา ๑๓.๐๐ – ๑๖.๐๐ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ห้อง แอลที ๑ วิทยากรผู้เข้าร่วมอภิปรายประกอบด้วย สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ณัฐพล ใจจริง และวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ดำเนินการอภิปรายโดย ธีระ สุธีวรางกูร ผู้อ่านสามารถติดตามการรายงานโดยละเอียด ซึ่งประชาไทจะทยอยนำเสนออย่างต่อเนื่อง |
ก่อนเริ่มงาน ผมส่งข้อความไปบอกเพื่อนสองสามคนว่า ผมตื่นเต้นมาก จริงๆ แล้ว วันนี้ที่ผมจะพูดไม่มีอะไรใหม่นะครับ ในแง่ที่ว่า ถ้าใครอ่านงานที่ผมเขียนมาตลอดจะรู้ว่านี่เป็นสิ่งที่ผมเขียนซ้ำแล้วซ้ำอีก ศอฉ. ถ้าคิดจะหาข้อมูลใหม่มาฟ้องผมก็ไม่ต้องนะครับ ของเก่ามีอยู่เยอะ
เดิมผมไม่คิดจะเริ่มต้นอย่างนี้ แต่พอดีคิดอะไรขึ้นมาได้ คือประมาณช่วงกลางๆ เดือนมีนาคม หลังจากเริ่มมีการชุมนุมเดือนมีนาคมสักประมาณ 1 สัปดาห์ ตอนนั้นผมยุ่งมากเพราะมีญาติป่วย วันแรกที่ผมได้ไปเดินในม็อบประมาณช่วงหกโมงถึงราวๆ หนึ่งทุ่ม เดินจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถึงผ่านฝ้า เดินสำรวจรอบๆ อยู่ๆ ผมก็คิดขึ้นมาในใจขึ้นมาทันทีเลยว่า นี่เป็นความผิดพลาดของสถาบันกษัตริย์ไทย ผมคิดจริงๆ เลยนะครับไม่ได้อำ
คือถ้าใครศึกษาประวัติศาสตร์มากๆ อย่างผมสอนหนังสือประวัติศาสตร์ เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า สถาบันกษัตริย์ไทยมีความสามารถ หรืออย่างน้อยแสดงออกถึงความสามารถว่า มีความเซนซิทีฟหรือมีความไวต่อกระแสความเปลี่ยนแปลงของกระแสการเมือง อันนี้เราต้องยอมรับ อย่างถนอม-ประภาสในช่วงสุดท้าย เมื่อเห็นว่าไปไม่รอด สถาบันกษัตริย์ก็ปรับตัวทันที ทั้งที่แต่ก่อนสถาบันกษัตริย์มีความสัมพันธ์แน่นสนิทกับระบอบถนอม-ประภาสมาก แต่เมื่อเห็นว่าไปไม่รอด ในยุค 14 ตุลา ก็หันมายืนอยู่ข้างนักศึกษา บรรยากาศตอนนี้เป็นบรรยากาศที่เหมือน 6 ตุลา ใครไปอ่านบันทึกของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่บันทึกว่า มองไปทางไหนก็มืดมนไปหมด จะไปทางไหนใครจะบอกได้ คือคุณต้องเข้าใจว่า พื้นฐานอาจารย์ป๋วยมีความเป็นเสรีนิยม และเคารพรักต่อสถาบันกษัตริย์มากๆ
หลัง 6 ตุลา ความรู้สึกที่คนแปลกแยกต่อสถาบันมันแพร่หลายมาก และไม่เท่ากับปัจจุบันด้วยซ้ำ ตอนนั้นสถาบันกษัตริย์ก็ปรับตัว ผมกับสุธรรม (แสงประทุม) และเพื่อน ถูกจับแล้วเอาขึ้นศาลทหาร เราก็คิดว่า เราต้องอยู่ยาวเป็น 10 ปี รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ขึ้นมาก็บอกว่า มันร้ายแรงมาก ความผิดถึงขั้นประหาร จากนั้นคุณเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็พยายามบอกกับทางราชสำนักว่า ปล่อยพวกนี้จะดีสำหรับสถาบันฯมากกว่า จริงๆ แล้วก็ยืดเยื้อมาหลายเดือน และก็มีการกระซิบๆ ว่า เมื่อออกไปแล้ว ก็ให้สัมภาษณ์หน่อยว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณ นี่เป็นเบื้องหลัง ซึ่งถ้าใครไปดูหนังสือพิมพ์ช่วงนั้น ก็ลงว่า สุธรรมบอกว่า เป็นพระมหากรุณาธิคุณ
นี่เป็นตัวอย่างที่สถาบันกษัตริย์ปรับเปลี่ยนตัวเอง เมื่อเห็นว่าคนจำนวนมากเริ่มแปลกแยก เริ่มไม่พอใจ ก็สามารถปรับเปลี่ยนตัว อย่างกรณีสุจินดา คราประยูร ก็สามารถปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างสุจินดากับทหาร เมื่อถึงช่วง 17 พฤษภาคม ก็มีการปรับเปลี่ยนตัว นี่เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับว่า สถาบันกษัตริย์ไทยแสดงให้เห็นถึงความละเอียดอ่อนต่อความเปลี่ยนแปลง
แต่ตอนที่ผมเดินอยู่ในม็อบเดือนมีนาคม ตอนนั้นยังไม่เกิดการปะทะอะไรเลยนะครับ ผมรู้สึกเลยว่า นี่เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด ที่ผมนึกไม่ถึงก็คือ อีกไม่กี่สัปดาห์ต่อมา การตัดสินใจที่ผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ครั้งนั้นยิ่งรุนแรงลงไปอีก เกิดการปะทะวันที่ 10 เมษา และการปะทะเดือนพฤษภา คือถ้ามีใครบอกผมว่า วันดีคืนดีจะมีคนหมื่นๆ ไปตะโกนที่ราชประสงค์อย่างที่ไปตะโกนกันเมื่อไม่กี่เดือนที่แล้ว ผมก็จะคิดว่าคนพวกนี้มันเพ้อฝัน มันคงเกิดได้ชาติหน้าตอนบ่ายๆ
สิ่งที่ผมอยากจะสื่อสารไปยังคนที่จงรักภักดี สื่อสารไปถึงบุคลากรทุกคนในสถาบันมหากษัตริย์ว่า อย่าประเมินความรู้สึกแปลกแยกของคนต่ำเกินไป อย่าประเมินความไม่พอใจของคนต่ำเกินไป พูดตรงๆ วันนี้ (วันจัดเสวนา-10 ธันวาคม 2553) ผมเซอร์ไพรส์นะที่คนมามากขนาดนี้ ผมนึกว่าจะมีแต่นักศึกษา ผมยังคิดว่ามาจัดตรงนี้ น่าเสียดายน่าจะไปจัดที่ใกล้ๆ ม็อบ เผื่อคนจะได้เยอะขึ้น นี่ขนาดผมยังประเมินต่ำเลยนะครับ แล้วอย่างที่ผมบอก ผมเองผ่าน 6 ตุลา เห็นความไม่พอใจมาแล้วก็นึกว่ามันสุดแล้ว แต่นึกไม่ถึงว่า ในระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ระดับความไม่พอใจสูงมาก เป็นคลื่นใต้น้ำที่แรงมาก
สิ่งที่ผมพยายามจะบอกก็คือ พวกคุณ บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่าประเมินความไม่พอใจของคนต่ำเกินไป และอย่าประเมินความสามารถของตัวเองในการจัดการเรื่องนี้สูงเกินไป คือคุณอย่าคิดว่าคุณปราบ จับฆ่าคน เอาคนเข้าคุก ขู่เอาไว้ มึงหมิ่นเจ้า ล้มสถาบันจะเอาเข้าคุก มันไม่เวิร์กหรอก
หรือกรณีสองมาตรฐานซ้ำแล้ว สองมาตรฐานซ้อนสองมาตรฐานซ้อนมาตรฐาน ตอนที่เขาตัดสินคดีพรรคประชาธิปัตย์ ผมคิดจริงๆ นะครับว่า เขาจะตัดสินยุบพรรคประชาธิปัตย์ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะตอนนั้นศาลรัฐธรรมนูญเสียเครดิตเยอะมาก แล้วถ้าเป็นผม ถ้าผมอยู่ฝ่ายเขา ผมจะยอมเสียประชาธิปัตย์ชั่วคราว เอาศาลรัฐธรรมนูญไว้เป็นเครื่องมือ
ผมไม่อยากจะบอกว่าหน้าด้าน แต่มันชัดมาก จนกระทั่ง...และที่สำคัญคือ มันไม่ฉลาด นึกออกไหมครับ คือการรักษาอำนาจที่ฉลาดไม่ใช่ว่ารักษาลูกเดียว ใช้วิธีการเดียวอย่างชนิดที่หวังว่าจะใช้วิธีการนี้ตลอดเวลาแล้วคิดว่าคนเขาจะทนอยู่แบบนี้ตลอดเวลา แล้วเมื่อวานก็มาตัดสินแบบนี้ซ้ำอีก
เรื่องนี้มันเกี่ยวพันกับความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์ ผมถึงบอกว่าอย่าประเมินความสามารถตัวเองสูงเกินไปในการจัดการกับปัญหาพวกนี้ด้วยความรุนแรง ด้วยการจับติดคุก ด้วยกฎหมาย ด้วยวิธีการสองมาตรฐานซ้ำแล้วซ้ำอีก มันไม่เวิร์กในระยะยาว และมันจะกลับไปหาพวกคุณเองอย่างรุนแรงมาก
และสุดท้าย นี่เกริ่นนะครับยังไม่เข้าเรื่อง สุดท้าย วีธีการจัดงาน วิธีการเชียร์กันอย่างนี้ก็ไม่เวิร์กเหมือนกันเชื่อผมเถอะ ปีที่แล้วฉายหนังเข้าไปที่พระที่นั่งอนันตฯ ปีนี้ฉายหนังไปที่จอน้ำ ปีหน้าต่อให้ฉายไปที่จักรวาลหรือแกแลกซี่ก็ไม่เวิร์ก อันนี้พูดอย่างซีเรียสนะครับ คือหลังจากผ่านการเมืองแบบนี้ ผมนึกไม่ถึงว่า คนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะตัดสินใจอะไรที่ฉลาดน้อยแบบนี้
สิ่งที่ผมพยายามจะทำ ก็คือการเปลี่ยนความรุนแรงซึ่งรัฐบาลก็เห็น เราจะเปลี่ยนจากการตะโกน การแลกคลิปกันได้ก็ด้วยการเปิดให้เป็นการอภิปรายเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา เพราะว่ามีแต่การอภิปรายปัญหาเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาเท่านั้น เราถึงจะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ในที่สุดแล้ว จะลงเอยด้วยความรุนแรง ด้วยการนองเลือด เราต้องพูดกันตรงๆ ว่า สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ในอำนาจและสถานะแบบปัจจุบันนี้ไม่ได้...ต้องเปลี่ยน
ข้อเสนอพื้นฐานของผมคือ ผมเสนอสั้นๆ ว่า แทบทุกอย่างที่เกี่ยวกับสถานะและอำนาจเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์นั้น ‘ผิด’ หนึ่งคือ ผิดหลักการประชาธิปไตย คือ หลักการเรื่องเสรีภาพ เสมอภาค เรื่องอำนาจสาธารณะต่างๆ ต้องสามารถควบคุมและเอาผิดได้โดยสาธารณะ ผิดหลักการใช้เหตุใช้ผล ผิดหลักการพื้นฐานของความเป็นคน
ข้อเสนอของผมที่ต้องทำความเข้าใจว่า การเสนอยกเลิกสถานะนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย คือไม่ผิดรัฐธรรมนูญ ข้อเสนอนี้ไม่ได้บอกให้เลิกสถาบันกษัตริย์เลย แต่ให้เลิกสถานะและอำนาจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ผิด ม.112 ด้วย ทุกคนต้องทำความเข้าใจให้ดีๆ ว่า ม. 112 คือการออกกฎหมายป้องกันการหมิ่นประมาทตัวบุคคล 4 กรณี คือ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการ ไม่ได้เป็นปัญหาเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์เรื่ององค์กรหรือโครงสร้าง ข้อเสนอผมทั้งหมด ในที่สุดแล้วก็โยงกลับมาที่ประเด็นการแก้ไขโครงสร้างอำนาจเสมอ ผมว่าเป็นเรื่องต้องทำ เพราะคุณคิดว่าจะอยู่ได้แค่ไหนแบบนี้ เหมือนเป็นเฮาส์ออฟคาร์ด คือการตั้งปีระมิดไพ่ แล้วมันก็พังลงมา
ทีนี้ ตรงข้ามกับความเข้าใจทั่วไป ที่ผมต้องทำความเข้าใจนิดหนึ่ง เรื่องที่คนมักพูดกันโดยเฉพาะคนชั้นกลาง คนมีการศึกษา ที่มักจะพูดกันถึงว่า นักการเมืองเลวอะไรทั้งหลายแหล่ ความเห็นผมจริงๆ เลยนะครับ ปัญหาใหญ่ของการเมืองไทย อะไรทั้งหลายแหล่ เรื่องสองมาตรฐาน กับเรื่องนักการเมืองไม่มีคุณภาพ ต้องแก้ที่ปัญหาของสถาบันกษัตริย์ เพราะอะไร เพราะตราบเท่าที่คุณสองมาตรฐานเรื่องสถาบันกษัตริย์ คุณจะพูดสองมาตรฐานในเรื่องอื่นไม่ได้ มีแต่คุณทำให้เรื่องสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกับคนทุกคนในประเทศไทยเท่านั้น คุณถึงจะใช้มาตรฐานเดียวกับคนทุกคนได้
หัวใจของข้อเสนอของผมง่ายมาก คือประยุกต์หลักการที่ใช้กับคนทุกคนเข้ากับสถาบันกษัตริย์อย่างเท่าเทียมกัน แค่นั้นเอง ง่ายๆ
แล้วปัญหาเรื่องนักการเมืองเลว ลองคิดดีๆ นะครับ พอรัฐประหารคนไปเชียร์ เพราะอะไร เพราะคุณไปสร้างภาพเพอร์เฟ็กต์ที่มันไม่เป็นจริง คุณไปสร้างภาพเพอร์เฟ็คต์ว่า คุณสามารถมีสถาบันกษัตริย์ที่วิเศษทุกประการ ไม่มีข้อติเลย คุณก็จะเกิดข้อเปรียบเทียบเสมอว่า นักการเมืองมันอย่างโน้นอย่างนี้ คุณทำไมไม่ตั้งคำถามว่า ภาพที่คุณสร้างไว้มันผิดหรือเปล่า ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องภาพที่สร้างอย่างนี้ไว้แต่ต้นก็ไม่มีปัญหาเรื่องนักการเมืองอะไร คนทุกประเทศเขาไม่พอใจนักการเมือง เขาหมั่นไส้ เขาก็จัดการอย่างประสามนุษย์มนาเพราะประเทศเขาไม่ต้องมีการสร้างภาพเทวดาไว้เปรียบเทียบกับคน
ข้อเสนอของผมเสนอไปแล้ว 8 ข้อ แต่เคยมีนักวิชาการเสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 ก็พอ บางคนบอกไม่ยกเลิกด้วยซ้ำ บางคนบอก ผมเสนอเยอะเกินไป นี่ผมเสนอแบบขั้นต่ำแล้วนะครับ พูดซีเรียสนะครับ ในบริบทประเทศไทย ยกเลิกเฉพาะมาตรา 112 แล้วไม่ยกเลิกมาตรา 8 ไม่ยกเลิกการประชาสัมพันธ์ด้านเดียว เช้าจดเย็นๆ พูดเรื่องนี้ ไม่มีประโยชน์ที่จะยกเลิก 112 คุณต้องยกเลิกพร้อมกันทั้งชุด
ข้อเสนอ 8 ข้อของผม ไปอ่านรายละเอียดได้ที่ผู้จัดการฉบับวันที่ 21 ก.พ. 2553 คอลัมน์คุณคำนูณ สิทธิสมาน คือมันไม่ใช่ข้อเสนอที่ผิดกกฎหมาย ถ้าผิดกฎหมายคุณคำนูณเขาไม่เสนอไปแล้วละครับ วันนี้ผมดีใจอย่างหนึ่ง ผมดีใจที่คนส่วนใหญ่เป็นคนเสื้อแดงมา แต่ใจผม คราวหน้าผมอยากให้คนอย่างคุณสนธิ (ลิ้มทองกุล) หรือบรรดาพันธมิตรฯ หรือบรรดาคนที่ใช้นามสกุลรักในหลวงตามเว็บไซต์ ผมยินดีนั่งคนเดียวให้ซักเลย
ในที่สุดแล้ว เราต้องอยู่ร่วมประเทศกันทั้งนั้น กับคนเหล่านี้ ผมยินดีที่จะดีเบตเลยนะครับ ประเด็นที่คุณชูเรื่องสถาบันตลอดเวลา เรื่องรักในหลวงเพราะทรงงานหนัก ผมเคยเขียนในเว็บไซต์มาสักระยะแล้วว่า ในหลวงทรงเหน็ดเหนื่อย ทรงทำดี ประเด็นที่ผมถามไปยังคุณสนธิ และคนที่จงรักภักดีคือ เรารู้ได้อย่างไร เราพิสูจน์ได้อย่างไร
ถามจริงๆ นะครับ ผมไม่ได้บอกว่าในหลวงไม่ได้ทรงงานหนักนะครับ เพราะผมไม่รู้ แต่หัวใจที่ผมพยายามเสนอให้ปฏิรูป สมมติว่า นักการเมืองคนหนึ่งทำงานหนัก โดยความเข้าใจของคนทั่วไป เราต้องถามว่าเขาสร้างภาพหรือเปล่า เราต้องตรวจสอบว่าจริงไหม จนกระทั่งผ่านกระบวนการเหล่านี้แล้ว จึงจะพิสูจน์ได้ว่า อ๋อ! คนนี้ทำงานหนัก
แต่ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ผมไม่เคยเข้าใจเลยว่าทำไมคนถึงเชื่อ เพราะว่ามันไม่เคยถูกพิสูจน์จริงๆ การพูดอย่างนี้มันไม่เคยผ่านการพิสูจน์จริงๆ แล้วผมให้ดูตัวอย่าง อันนี้เป็นเว็บบอร์ดเสรีไทย เขาเอา 8 ข้อเสนอของผมไป แล้วไปเขียนด่าผม ผมยกเป็นตัวอย่างให้ดูหลายคนคงเคยอ่าน ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ความจริงพวกนี้ไม่รู้เรื่อง บอกว่า “นายสมศักดิ์มีสิทธิอะไรไปยุ่งทรัพย์สินส่วนตัวพระองค์ท่าน”
ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ผมเคยตั้งข้อสมมติในเว็บบอร์ดว่า ถ้าสมมติมีวันดีคืนดี เราออก พ.ร.บ.อันหนึ่งบอกว่า อำนาจในการจำหน่ายจับจ่ายทรัพย์สินของรัฐ ให้อยู่ในดุลยพินิจของนายกรัฐมนตรีล้วนๆ โดยคนอื่นไม่สามารถแตะต้องได้ในอำนาจนั้น มีใครยอมบ้างไหม ถามจริงๆ แล้วก็มีคนพวกเสื้อเหลืองเขามาอ่านเข้า ก็เถียงไม่ได้เหมือนกัน เขาบอก เออ มันจริง คือเราคิดกันง่ายๆ นะ ต่อให้นักการเมืองในประวัติศาสตร์ที่คนยกย่องกัน 2 คนอย่างอาจารย์ปรีดี อาจารย์ป๋วยบอกว่า ซื่อสัตย์มาก เป็นนายก ผมก็เชื่อว่าไม่มีใครยอมรับให้ออก พ.ร.บ.นี้แน่ เอาทรัพย์สินของรัฐ 7 หมื่น 8 หมื่นล้านให้อยู่ในดุลยพินิจของอาจารย์ปรีดี อาจารย์ป๋วย ซึ่งเป็นนายกฯ เพราะมันผิดหลักการใช่ไหม แต่ปัญหาทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 7 หมื่น 8 หมื่นล้านอยู่ภายใต้อำนาจโดยสิ้นเชิงของพระมหากษัตริย์ อันนี้มันสมเหตุผล (make sense) ตรงไหน ผมถามจริงๆ มันเป็นเหตุเป็นผลตรงไหน เอาแค่นี้นะ
ดูประเด็นสุดท้ายเกี่ยวกับเรื่องในหลวงทำงานหนัก “นายสมศักดิ์ให้ยกเลิกพระราชอำนาจในโครงการหลวงทั้งหมด เหลือเชื่อในความคิดอันอัปยศและคับแคบนี้ พระองค์ท่านเสด็จไปทั่วทุกแคว้นแดนถิ่นเพื่ออะไร เพื่อพบประชาชนแล้วนำปัญหามาขบคิดเพื่อหาทางช่วยเหลือ ภาคกลางน้ำท่วมอะไรก็ว่าไปจนเกิดโครงการแก้มลิง” เราจะเจอประจำเวลาผมไปเขียน คำถามผมก็เหมือนเดิม คือ คุณรู้และพิสูจน์ได้ยังไง
เกิดมีนักการเมืองคนหนึ่งเดินทางไปจังหวัดต่างๆ แล้วก็ทำงานหนัก คุณจะเชื่อไหม ถามจริงๆ นี่เป็นหลักเหตุผลธรรมดาง่ายๆ มากเลย จากการศึกษาประวัติศาสตร์ของผมพบว่า นักการเมือง ไม่ต้องคุณทักษิณ คุณอภิสิทธิ์ก็ได้เอ้า เดินทางไปต่างจังหวัดเหนื่อยยาก ลงทุนลงแรงมากกว่าราชวงศ์ทุกคนเคยทำในเวลาเท่าๆ กันอีก คุณจะเชื่อผมไหมล่ะ ปัญหาคือ คุณจะพิสูจน์ยังไง ถ้าคุณไม่เปิดเสรีภาพให้วิพากษ์วิจารณ์จริงๆ ไม่เปิดเสรีภาพให้ประเมินกันจริงๆ ว่า สิ่งที่ทำของราชวงศ์มันจริงไหม แต่เป็นเรื่องที่แปลกมากๆ เลย พอเราดูการประชาสัมพันธ์ ดูอะไรทั้งหมด เออ! จริงนะ ในหลวงทำงานหนัก ผมถามจริงๆ ถามซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า เรารู้ได้ยังไง ในที่สุดแล้ว มันรู้ไม่ได้หรอก เพราะตราบใดไม่มีเสรีภาพให้วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้
แล้วต่อให้สมมติสมาชิกในราชวงศ์ตั้งแต่ในหลวงจนกระทั่งสมาชิกราชวงศ์ทุกพระองค์ทำงานต่างๆ ได้ผล ก็คือมีผลงาน สมมติมีโครงการต่างๆ ได้ผล foot note ไว้นิดหนึ่ง วันก่อนหนัง 7 เรื่องที่ผู้กำกับดังๆ เขาทำกัน อันนี้เป็นตัวอย่างของความไม่มีเหตุผล ผู้กำกับคนหนึ่งบอกว่า โครงการหลวงทั้งหมดนี้ท่านออกเงินส่วนพระองค์ ไปดูคำสัมภาษณ์ในเนชั่นสุดสัปดาห์ ผมอ่านแล้วแล้วผมส่ายหัวเลย แค่เบสิคง่ายๆ คือ เรื่องทั้งหมดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ปัจจุบันเปลี่ยนคนไทยให้กลายเป็นอะไรก็ไม่ทราบ คือกลายเป็นคนที่ไม่มีเหตุผลจนกระทั่งเหลือเชื่อ
ประเด็นคืออย่างนี้ สมมติต่อให้ราชวงศ์ทำงานบางโครงการแล้วได้ผลจริง โดย common sense เราก็ต้องตรวจสอบเช่น ลงทุนเท่าไหร่ ได้ผลเท่าไหร่ สมมติคุณจ้างงานผม ทุกวันนี้ผมได้เงินเดือนสองหมื่นกว่า สมมติตีว่า บังเอิญได้เงินเดือนสองล้าน แล้วผมไปทำโปรเจ็คท์อะไรสักโปรเจ็คท์หนึ่งได้ผลสำเร็จ โปรเจ็คนั้นสำเร็จ มีผลกระทบตีมาเป็นเงินได้ประมาณเดือนละหมื่น แสนสองแสน แล้วผมได้เงินเดือนสองล้าน ต่อให้ผมทำจริงๆ แล้วผมไม่ทุจริตไม่อะไร อย่างนี้คุณเชื่อว่า ยังควรยกย่องผมอยู่ไหม ในทางปฏิบัติในระบบราชการ ถ้าผมทำอย่างนี้ผมถูกลงโทษนะครับ ผมถูกตักเตือนเพราะเป็นการใช้จ่ายเงินที่ไม่สอดคล้องความเป็นจริง
เท่าที่ผมพูดนี้ไม่มีอะไรผิดปรกติเลย ถ้าเรา apply (ปรับใช้) กับราชการ apply กับคนธรรมดา apply กับนักการเมืองทั้งหมด แต่ทำไมเราไม่ apply หลักการอันนี้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมถามหน่อย พอพูดถึงเรื่องนี้ ผมนึกถึงประเด็นหนึ่ง ในหลายปีนี้มันมีคำพูดเยอะมากเลย โดยเฉพาะในคนที่เรียกว่าจงรักภักดี จะบอกว่า ปัญหาคือนักการเมืองนี่แย่ ไม่มีคุณภาพ แล้วที่ตามคือว่า เพราะคนชนบท คนต่างจังหวัดเลือกนักการเมืองที่แย่ขึ้นมา อันนี้เลยนำไปสู่ไอเดียของพันธมิตรฯ เรื่อง 30:70 คนชนบทโง่ อะไรก็ว่าไป เวลานึกถึงเรื่องนี้ผมนึกยังไงรู้ไหม คนต่างจังหวัดเวลาเขาเลือก นักวิชาการบอกว่า เลือกเพราะผลประโยชน์ เพราะประชานิยม บอกมันเป็นความไม่ฉลาด เป็นความโง่อะไรก็ว่าไป แต่คนในเมืองซึ่งหลายปีนี้เชื่อเรื่องแบบนี้ เชื่อเรื่องว่า ในหลวงทรงงานหนักโดยที่ไม่สามารถพิสูจน์และไม่สามารถรู้ได้จริงๆ
ไม่แต่เท่านั้น ที่วันก่อนคุณพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ไปพูดอย่างภูมิอกภูมิใจมากเลยว่านี่เป็นบ้านพ่อ แล้วใครไม่อยากอยู่ก็ให้ออกไป แล้วในที่ประชุมนั้น ซึ่งประกอบด้วยระดับไฮโซ ดารา ทั้งรายได้ทั้งการศึกษา ต้องถือว่าไฮโซมากๆ ดีกว่าพวกเราที่นั่งอยู่ส่วนใหญ่ ก็ตบมือกันเกรียวกราวเลย ก็ไปต่อกันทางอินเตอร์เน็ต น้ำหูน้ำตาไหลกันใหญ่เลย คือประการแรกคุณพงษ์พัฒน์อาจจะไม่รู้ว่า กฎอัยการที่นา ที่กำหนดสมัยพระบรมไตรโลกนาถ ที่บอกให้ที่ดินเป็นของกษัตริย์ เขาเลิกไปหลายร้อยปีแล้ว เขาอนุญาตให้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินเอกชนกันหมดแล้ว ที่ดินทั้งหมดไม่ใช่ของกษัตริย์อีกต่อไปเป็นร้อยกว่าปีสองร้อยปีแล้ว หรือจะพูดในความหมายเรื่องประเทศทั้งหมด เขาก็ไม่ถือว่าประเทศเป็นของกษัตริย์อีกต่อไปเป็นศตวรรษแล้ว
คุณลองนึกภาพคนที่มีการศึกษา คนที่ไฮโซสามารถพูดจนน้ำหูน้ำตาไหลกับคำพูดซึ่งมันไร้เหตุผลขนาดนี้ แล้วคนก็เชียร์กันใหญ่ เปรียบเทียบหาว่าคนชนบทโง่ ผมถามหน่อยเถอะ ใครโง่กว่าใครเนี่ย คือภาวะความเป็นจริงของสถานะอำนาจสถาบันกษัตริย์กลับทุกอย่างที่สมเหตุสมผลให้กลับตาลปัตรไปหมด ความไม่มีเหตุผล ความเชื่อโดยพิสูจน์ไม่ได้ ความเชื่อโดยไม่อยู่บนบรรทัดฐานของการพิสูจน์ กลับกลายเป็นอะไรบางอย่างที่น้ำหูน้ำตาไหล แล้วก็เชื่ออย่างผิดๆ ด้วย อย่างกรณีเรื่อง ‘บ้านพ่อ’ ‘ประเทศของพ่อ’ เรื่องพื้นๆ ธรรมดา การที่เขาเลือกนักการเมือง เพราะเห็นว่านักการเมืองทำประโยชน์ให้เขาได้ กลับกลายเป็นเรื่องโง่ไปเนี่ย มันมีเหตุผลตรงไหน บอกผมหน่อย ประเทศมันกลับตาลปัตรขนาดนี้ แล้วมันไม่เปลี่ยนยังไง ผมถามหน่อย
เพราะฉะนั้น ประเด็นที่เสนอ 8 ข้อ ก็ง่ายๆ คือ apply หลักการทุกอย่างที่ใช้กับทุกคนเข้ากับสถาบันกษัตริย์เท่านั้นเอง ทีนี้มันมีประเด็นเฉพาะรูปธรรมอยู่ การพูดอย่างนี้ ข้อเสนอเมื่อ 5 ปีที่แล้วก็เสนออย่างนี้ได้ 10 ปีที่แล้วก็เสนออย่างนี้ได้ เพราะประเด็นมันเป็นมานาน แต่เฉพาะหน้า อันนี้ต้องสารภาพนิดหนึ่ง ผมคิดเป็นอาทิตย์เลยนะว่า จะพูดส่วนนี้ดีหรือเปล่า ถามเพื่อนหลายคนว่า จะพูดดีไหม หรือจบแค่นี้เอง ไหนๆ พูดก็พูดนะครับ
ในหลายปีที่ผ่านมามันมีความจริงอย่างนี้ นี่เป็น speech ของคุณเปรม (ติณสูลานนท์) ที่ผมยกมา 3-4 อัน หลายคนคงรู้ speech อันแรกคือ speech เรื่องจ๊อกกี้เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2549 นี่คือคุณเปรมไปแคมเปญให้ล้มรัฐบาล ถ้าพูดกันตรงๆ คุณเปรมเเคมเปญให้ล้มรัฐบาล อันที่สองคือ ตอนคุณอภิสิทธิ์ขึ้นมา คุณเปรมเชียร์คุณอภิสิทธิ์ต่อหน้าสาธารณชน 3 หน หนแรก “บ้านเมืองเราโชคดีที่ได้ท่านอภิสิทธิ์มาเป็นนายกฯ” นี่คือ 28 ธันวา 2551 ครั้งที่สองบอกว่า “รัฐบาลนี้ดี ผมเคยพูดว่ารัฐบาลนี้ดี” แล้วก็ลงท้ายสั้นๆ ว่า “ผมเชียร์” 25 มีนา 2552 อีกครั้งหนึ่ง 25 สิงหา “นายกฯคนนี้ยังอยู่ เชื่อว่าแก้ปัญหาประเทศชาติได้”
ทีนี้ 3 อันนี้มันผิดยังไง ไม่ต้องไปถึงเรื่องจ๊อกกี้ก็ได้ เอา 3 อันที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร คุณเปรมรู้นะครับว่าการพูดอย่างนี้มันผิดรัฐธรรมนูญ เพราะว่าตามรัฐธรรมนูญบอกว่า องคมนตรีจะแสดงความฝักใฝ่ในพรรคการเมืองไม่ได้ ดู speech คุณเปรมเองวันที่ 3 พฤศจิกา 2550 ไปเชียร์คุณสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นเชอร์ชิลด์ ผมเป็นองคมนตรี คุณสุรยุทธ์เป็นองคมนตรี รัฐมนตรีได้บัญญัติองคมนตรีห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เมื่อไปพูดอะไรก็ถูกตำหนิว่า องคมนตรีไปพูดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติห้ามไว้ ก็บอกเขาว่า ที่พูดไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องของชาติบ้านเมือง
ลองดู 3 อันที่เชียร์อภิสิทธิ์ เชียร์หัวหน้าพรรคการเมืองเป็นเรื่องชาติบ้านเมือง อันนี้ใช้บรรทัดฐานอะไรไม่ทราบ เห็นชัดๆ ว่า นี่เป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญเลยนะ แล้วเจ้าตัวก็รู้ ก็พูดด้วย ทีนี้ถ้าเป็นกรณีคนอื่นๆ เป็นนักการเมืองหรืออะไรก็แล้วแต่ คนนี้ต้องโดนปลดแล้วปลดอีก ปลดซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่รู้กี่ครั้งแล้ว และเป็นรัฐธรรมนูญที่ตัวเองมีส่วนในการเขียนด้วยนะ รัฐธรรมนูญ 50 แต่ทำไม่ได้เพราะอะไร เพราะโดยรัฐธรรมนูญบัญญัติให้อำนาจในการปลดทุกอย่างอยู่ที่พระมหากษัตริย์ทั้งหมด ประเด็นนี้สำคัญนะ โดยองคมนตรีจริงๆ แล้วโดยรัฐธรรมนูญอยู่ในหมวดพระมหากษัตริย์ องคมนตรีโดยในทางองค์กรหรือทางโครงสร้าง ถือเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรหรือโครงสร้างพระมหากษัตริย์หรือสถาบันกษัตริย์ เพราะฉะนั้นการที่องคมนตรีเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองมากขนาดนี้ นี่เป็นปัญหาเรื่องอำนาจและสถานะของสถาบันกษัตริย์แล้ว ไม่ใช่ปัญหาเรื่ององคมนตรี
ผมอยากจะสื่อสารไปถึงคนอีกกลุ่มหนึ่ง สื่อสารไปถึงอาจารย์ธิดา (ถาวรเศรษฐ์) สื่อสารถึงคุณทักษิณด้วยก็ดี สื่อสารถึงแกนนำ นปช.ทั้งหลาย นี่พูดอย่างซีเรียสนะ ผมพยายามพูดมาหลายเดือนแล้ว คือผมเข้าใจอยู่
อาจารย์ธิดาพยายามพูดว่า นปช.ต้องการระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แล้วก็พยายามย้ำว่า เราไม่ล้มเจ้า ไม่อะไรก็แล้วแต่ คือสมัยนี้พูดอย่างนี้ไม่มีประโยชน์ ผมก็ไม่ได้เสนอให้ล้มเจ้านะ เห็นไหม ผมเสนอให้มีสถาบันกษัตริย์อยู่แท้ๆ เลย แต่ประเด็นคือ ถ้าโจมตีองคมนตรีซ้ำแล้วซ้ำอีก แทนที่จะโจมตีคุณเปรมเรื่องประตูหน้าประตูหลัง อย่าไปโจมตี ไม่มีประโยชน์ สู้เสนอให้ปรับแก้อำนาจของสถาบันกษัตริย์ในเรื่ององคมนตรีนี้ดีกว่า ผมถึงบอกว่า ไปพูดย้ำอย่างนั้นจริงๆ มันไม่เวิร์ค มันเวิร์คเหรอ คุณทักษิณโดนโจมตีน้อยเหรอ ก็เห็นโดนโจมตีอย่างนี้ โดนโจมตีว่าอยากเป็นประธานาธิบดี มันไม่เวิร์คนะครับ เพราะฉะนั้น ผมว่าแทนที่จะพูดอย่างนั้น แกนนำ นปช.น่าจะเริ่ม raise ปัญหาในลักษณะนี้ได้แล้ว
ปัญหาคือ ถ้ามีเฉพาะกรณีองคมนตรีมันไม่เท่าไหร่ จริงๆ มีองคมนตรีคนอื่นๆ ที่พูดอีก แต่ผมไม่ได้ยกมา ที่ผมพยายามจะบอกว่า อันนี้เป็นปัญหาเรื่องสถานะและอำนาจสถาบันกษัตริย์ แต่มันก็ไม่จบเท่านี้ถ้าหลายปีผ่านมามีแค่คุณเปรม
นี่คือพระราชดำรัสในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา พระราชดำรัสอันแรก คือพระราชดำรัสต่อศาลรัฐธรรมนูญ 25 เมษาที่เรียกกันว่า เป็นพระราชดำรัสตุลาการภิวัฒน์ ในหลวงทรงแสดงความเห็นว่า มันเป็นไปไม่ได้ที่จะเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย เลือกพรรคเดียวคนเดียว การยุบสภาแล้วเลือกตั้งภายใน 30 วัน ท่านก็ตั้งข้อสังเกต ตั้งข้อสงสัยว่า ถูกต้องหรือไม่ ไม่พูดถึงไม่พูดถึงเลย ถ้าไม่ถูกก็จะต้องแก้ไข อาจจะให้การเลือกตั้งนี้เป็นโมฆะหรืออย่างไร นี่เป็นข้อเสนอ ถามว่าข้อเสนอนี้เป็นการเมืองหรือเปล่า
ข้อสอง นี่คือพระราชดำรัสวันที่ 4 ธันวา 2549 ไม่กี่เดือนหลังรัฐประหาร ตอนนั้นเริ่มมีคนต่อต้านการรัฐประหารแล้ว ต่อต้านการตั้งรัฐบาลสุรยุทธ์ ในหลวงทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า ตอนที่ตั้งรัฐบาลก็ตั้งมาด้วยดี คนแก่ที่จะขึ้นมาเป็นใหญ่ แก่แล้วก็ขอให้ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าชมเชย แต่คนที่ว่า หมายถึงคนที่วิจารณ์ตอนนั้น แต่คนที่ว่า อาจจะเป็นมาจากความอิจฉาก็ได้ อิจฉาก็ช่างเขา นี่คือการวิจารณ์โดยตรงต่อคนที่กำลังประท้วงรัฐบาล ประท้วงการรัฐประหาร
Speech ที่ 3 วันที่ 4 ธันวา 2550 ตอนนั้นมีปัญหาว่า หลังจากรัฐประหาร กองทัพพยายามกดดันให้ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์เพิ่มขึ้น ในหลวงก็ทรงพูดอันนี้ กองทัพชวนซื้อเครื่องบิน ทำนองนี้ ไหนๆ เรารวยแล้ว เดี๋ยวนี้เรารวย เงินบาทมีค่าสูง สูงเกินไปก็ใช้สิ เงินบาทสูงเกินไป รัฐบาลหรือเมืองไทย ประชาชน มีเงินเยอะ มีเงินเกิน ก็ใช้สิ ถ้ามีเงินก็ต้องใช้ไม่ต้องขี้เหนียว ถ้ามีเงินก็ไม่ต้องขี้เหนียว ซื้อไปเถอะ อะไรก็ตาม เครื่องบิน เรือรบ รถถัง เรามีเงินเยอะใช่ไหม ก็คือทรงสนับสนุนทหารที่กำลังต้องการจะเอางบประมาณเพิ่มขึ้นหลังรัฐประหาร
อันสุดท้ายที่ผมยกมา อันนี้สำคัญ เพราะถ้าใครจำได้ พันธมิตรฯ อ้างอันนี้ไปเป็นนกหวีดเข้ายึดทำเนียบ ผมไม่ได้บอกว่า การยึดทำเนียบเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์โดยตรงนะ แต่เกี่ยวใน sense ที่ว่า อำนาจของพระมหากษัตริย์ที่สามารถทรงพูดสดๆ ซึ่งไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนในโลกเขาอนุญาตกัน มันกลายเป็นปัญหาขึ้นมาอย่างนี้ คือตอนนั้นทวนความจำนิดหนึ่ง เพื่อนผม หมอเลี้ยบ (นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี) เป็นรัฐมนตรีคลัง แล้วต้องการจ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นี่คือรัฐบาลของคุณสมัคร คุณธาริษา (วัฒนเกษ) ผู้ว่าแบ๊งค์ชาติก็ไม่เห็นด้วย ก็มีการขัดแย้งระหว่างรัฐมนตรีคลังกับผู้ว่าแบ๊งค์ชาติ เป็นข่าวในหน้าธุรกิจอย่างรุนแรง ในหลวงก็ให้ผู้ว่าแบ๊งค์ชาตินำคณะเข้าเฝ้า ความจริงแล้ว ถ้าในประเทศตะวันตกหรือประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ในขณะที่กำลังขัดแย้งกันอย่างหนัก เจ้าหน้าที่รัฐสองคน คนหนึ่งผู้ว่าแบ๊งค์ชาติ คนหนึ่งรัฐมนตรีคลังขัดแย้งเรื่องการใช้จ่ายเงิน พระมหากษัตริย์กลับให้ผู้ว่าแบ๊งค์ชาติเข้าเฝ้า ทรงมีพระราชดำรัสอันนี้ “ขอบใจที่เหน็ดเหนื่อยเรื่องการเงินซึ่งเป็นงานหนัก และสามารถปฏิบัติงานหน้าที่การเงินเป็นที่เรียบร้อยไม่ให้บ้านเมืองล่มจม แม้ตอนนี้ใกล้ล่มจมแล้วซึ่งอาจใช้เงินไม่ระวัง เพราะใช้เงินไปไม่ระวัง” นี่คือการวิจารณ์โดยตรงต่อการใช้เงินของรัฐบาลสมัครขณะนั้น
ผมมีเกร็ดนิดหนึ่ง ญาติๆ ผมที่อยู่ต่างจังหวัดแถวชลบุรี แถวๆ นั้น ผมโทรศัพท์ไปช่วงนั้นพอดี เขาบอกว่า โอ้โห ต้องล้มรัฐบาลสมัคร ดูสิทำบ้านเมืองล่มจมแล้ว ในหลวงยังมีพระราชดำรัสดังนั้นเลย ประเด็นของผมคือว่า นี่เป็นตัวอย่าง speech 4 อันนี้เป็น speech ที่เกี่ยวกับการเมืองไหม
อันต่อไป วันที่ 15 กันยายน 2549 คุณสนธิ (ลิ้มทองกุล) กับพันธมิตรฯ สวมผ้าพันคอสีฟ้า มีพระปรมาภิไธยย่อของพระราชินี มิหนำซ้ำ คุณสนธิกับคุณคำนูญ ยังพูดถึงเรื่องเงินของสตรีสูงศักดิ์ แต่อันนี้เราไม่พูดถึง เราไม่ทราบว่าเขาหมายถึงใคร แต่ผ้าพันคอสีฟ้า อันนี้เขายืนยันว่า เป็นผ้าพันคอพระราชทานจากสมเด็จฯ แล้วอันนี้ไม่เคยมีข้อปฏิเสธเลยจากราชสำนักแม้สักครั้งเดียว
วันที่ 17 กรกฎาคม 2547 ช่วงวันอาสาฬหบูชา เข้าพรรษา คุณสนธินำพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จไปเปิดในที่ชุมนุมพันธมิตรฯ ที่กำลังล้อมทำเนียบรัฐบาลอยู่ ตอนนั้นคนก็ไม่รู้ว่ามาได้ยังไง เป็นพระราชเสาวนีย์ส่วนพระองค์ เรื่องนี้ก็ยังไม่เท่าไหร่
แต่ที่คนรู้จักดีคือกรณีนี้ ซึ่งเป็นกรณีที่แปลกมาก จริงๆ เป็นกรณีที่สำคัญ แบ่งยุคแบ่งสมัยการเมืองไทยเลยนะ ใครที่มาหาว่าเสื้อแดงล้มเจ้า ลองย้อนกลับไปก่อนช่วงเหตุการณ์ 13 ตุลา 2551 จริงๆ เสื้อแดงตอนนั้นใส่เสื้อเหลืองทั้งนั้นแหละ ผมร่วมชุมนุมตั้งหลายปีก่อน คำว่า ‘ตาสว่าง’ มันเกิดมาจากอะไร ก็เกิดจากความรู้สึกว่า เหตุการณ์อันนี้ แล้วไม่เพียงแต่ทรงเสด็จ ทรงมีพระราชดำรัสอันนี้ “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคุณอังคณา (ระดับปัญญาวุฒิ) ในหลวงทรงรับทราบเรื่องราวมาโดยตลอด รวมทั้งพระราชทานเงินส่วนพระองค์ช่วยเหลือมาด้วย” คม ชัด ลึก พาดหัว ทรงเผยในหลวงพระราชทานค่ารักษาผู้บาดเจ็บมาด้วย แล้วก็บอกว่าคุณอังคณาเป็นเด็กดี ช่วยชาติ ช่วยรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ยังไงก็ต้องมางานนี้ เพราะคุณอังคณาทำเพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระองค์ ก็คือสมเด็จพระนางเจ้า เป็นห่วงพันธมิตรฯ จะฝากดอกไม้ไปเยี่ยมพันธมิตรฯ
ทีนี้แปลกไหมที่เหตุการณ์สำคัญมากๆ อย่างนี้ ผมไม่เคยเห็นการอภิปรายเรื่องนี้ในหน้าหนังสือพิมพ์เลยนะ ไม่มีการอภิปรายทางทีวี นักวิชาการทั้งหลายแหล่ มีใครอภิปรายบ้าง มีนายสมศักดิ์มา raise ประเด็นอภิปราย เรื่องนี้ควรอภิปรายตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว
ทั้งหมดจากเรื่ององคมนตรีมากระทั่งถึงพระราชดำรัสต่างๆ จนถึงกรณีนี้ เพื่อจะบอกว่าอะไร ผมว่าข้อสรุปของคนที่มีเหตุมีผลทุกคน มีตัวอย่างอันอื่น ช่วงที่พันธมิตรฯ ชุมนุม นี่คืองานศพของสารวัตรจ๊าบ วันถัดมา ก่อนหน้านั้น พระเทพฯทรงบอกว่า ห่วงใยการชุมนุมของพันธมิตรฯ ให้คนไปช่วยเหลือ ตำรวจนครบาลก็บอกว่า จะไม่ใช้ความรุนแรงตามที่พระเทพฯทรงเป็นห่วง ความจริงมีกรณีอื่นอีก แต่โดยรวม ทั้งหมดนี้มันสะท้อนอะไร ข้อเสนอของผมคิดว่า สะท้อนสองประเด็นนี้อย่างชัดเจน หรือนี่ผมเป็นคนไม่มีเหตุผล เป็นคนเสียสติ นี่เป็นคอมมอนเซ้นส์มากๆ ว่า ข้อสรุปต้องเป็นแบบนี้ ในหลายปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งทางการเมือง สถาบันพระมหากษัตริย์เข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา โดยที่ประเด็นที่สอง การเข้ามาเกี่ยวข้องนี้มีลักษณะสนับสนุนหรือเอื้อให้อีกฝ่ายหนึ่ง และให้ผลเสียกับอีกฝ่ายหนึ่ง คนที่ไม่ต้องมีการศึกษาเลยก็ได้ มาดูทั้งหมดที่ประมวลมานี้และที่ยังไม่ได้พูดมาอีก ผมอยากท้าทายคนที่จงรักภักดี ลองเถียงซิว่าข้อสรุปสองข้อนี้มันหลีกเลี่ยงได้ยังไง ใครมองก็ต้องสรุปอย่างสองข้อนี้ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ที่ตลกคือ มันกลายเป็นเรื่องที่อภิปรายไม่ได้
ผมถามหน่อยว่า ถ้าข้อสรุปเป็นอย่างนี้จริง แล้วฝ่ายซึ่งเขาไม่ได้รับการเอื้อประโยชน์ ฝ่ายที่เขาเหมือนกับไม่แฟร์ในการปฏิบัติเรื่องนี้จากสถาบัน มันไม่ใช่คนสองคน 10 คน 20 คน มันเป็นพัน เป็นหมื่น เป็นแสน จนกระทั่งเป็นล้าน คุณจะให้เขาทำยังไง จะให้เขาทำเป็นวัวเป็นควายยอมรับอย่างเดียวเหรอ เขาก็มีปฏิกิริยาแสดงออกต่างๆ มันไม่ใช่ปฏิกิริยาจากข้อเท็จจริงสองประเด็นนี้หรือ แล้วคุณทำยังไง ก็ใช้ข้ออ้างเรื่องล้มเจ้ามาขู่เขา มาโยนใส่เขา มันมีที่ไหนในโลกเป็นแบบนี้บ้าง ถ้าข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้ มีที่ไหนที่ข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้แต่พวกเอ็งห้าม ห้าม รับลูกเดียว มันไม่ make sense แล้วคุณก็ใช้ข้ออ้างแบบนี้
แทนที่คุณจะใช้ข้ออ้างแบบนี้ แล้วก็ใช้เรื่องกฎหมาย ใช้เรื่องคุกมาขู่ซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำไมไม่ปล่อยให้อภิปรายกันอย่างแฟร์ๆ ว่า บทบาทของสถาบันกษัตริย์ในความขัดแย้งที่ผ่านมาเป็นอย่างไร แล้วมันถูกต้องตามหลักการเหตุผลหรือเปล่า
ถ้าในกรณีที่คนไม่เชื่อ หรือเป็นกรณีเฉพาะเหตุการณ์ไม่กี่ปีที่ผ่านมานะ ผมสอนหนังสือประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ แล้วพูดตรงๆ บางครั้งผมตลกนะ เวลาสอนในห้องเรียนอย่างหนึ่ง เวลาออกมาดูโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ดูงานช่วง 5 ธันวา แล้วผมอยากถามจริงๆ แม้กระทั่งคนที่จงรักภักดีมากๆ คุณห้อย ใครต่อใครที่น้ำหูน้ำตาไหล อย่างผมสอนหนังสือเรื่องนี้แล้วผมสอนเด็กปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก คุณอยากให้ผมสอนอย่างที่พวกคุณพูดๆ กันว่า สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่เกี่ยวกับความขัดแย้งเลยเหรอ จะสอนให้ลูกหลานของพวกคุณโตขึ้นมาเป็นซื่อบื้อไปตลอดอย่างนี้เหรอ หรือว่าจะไม่ให้พูดความจริงอย่างที่พูดมาเมื่อกี้ แล้วถ้าคิดว่าเรื่องนี้มันไม่พอ เราดูประวัติศาสตร์ไทยในอดีต
ยกตัวอย่างกรณีง่ายๆ นี่คือประกาศที่ผมขุดขึ้นมาในไม่กี่ปีก่อน นี่คือที่ในหลวงแต่งตั้งสฤษดิ์ (ธนะรัชต์)คือสฤษดิ์ทำรัฐประหารจอมพล ป.เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 ในหลวงทรงมีพระราชโองการให้สฤษดิ์เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร โดยขอให้ประชาชนทั้งหลายอยู่ในความสงบ และให้ฟังคำสั่งจอมพลสฤษดิ์ ทีนี้ประกาศนี้สำคัญตรงไหน มันไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ขณะนั้นรัฐธรรมนูญฉบับ 2495 ยังมีผลบังคับใช้อยู่ อันนี้สำคัญ ในรัฐธรรมนูญฉบับนั้น เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญทุกฉบับบอกว่า พระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ จะต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เวลาผมดูอันนี้ทีไร ผมนึกถึงตอนที่ท่านพูดเรื่องตุลาการภิวัฒน์ ท่านพูดอยู่อันหนึ่ง ข้าพเจ้าไม่เคยทำเกินหน้าที่ ถ้าทำเกินหน้าที่ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญหลายฉบับก็ทำมาหลายสิบปี ก็ไม่เคยทำอะไรตามใจชอบ ถ้าทำอะไรตามใจชอบแล้วก็เข้าใจว่าบ้านเมืองต้องล่มจมไปนานแล้ว
กรณี 6 ตุลา ภาพซ้ายมือ คือภาพที่สมเด็จพระบรมฯ เข้าไปให้กำลังใจกับพวกลูกเสือชาวบ้าน ซึ่งกำลังชุมนุมกันเพื่อไล่รัฐบาล ให้กำลังใจและทรงไปแสดงความห่วงใยลูกเสือชาวบ้านที่กำลังชุมนุมไล่รัฐบาลของหม่อมเสนีย์ (ปราโมช) ส่วนภาพขวาเป็นภาพสมเด็จเจ้าฟ้าสองพระองค์เสด็จไปงานศพของลูกเสือชาวบ้านที่บุกเข้าไปในธรรมศาสตร์ และทรงกล่าวสดุดีว่า ลูกเสือชาวบ้านที่บุกเข้ามาเป็นแบบอย่าง หรือกรณีคุณเปรมเมื่อประมาณปี 2527 กำลังทะเลาะกับ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอกอย่างหนัก คุณเปรมก็ใช้วิธีบินไปภูพานราชนิเวศน์ แล้วในหลวงก็ทรงให้คุณเปรมพักอยู่ประมาณหนึ่งสัปดาห์ ตอนกลับ เมื่อลงมาถึงดอนเมือง พระบรมฯ ก็ทรงขับรถด้วยพระองค์เองจากดอนเมืองไปส่งที่บ้านสี่เสาเทเวศน์ นี่คือภาพที่คุณเปรมก้มลงกราบพระบรม
ประเด็นทั้งหมด ผมไปเร็วๆ เพื่อจะบอกว่า เราจะทำตัวเป็นเด็กหรือทำตัวเป็นคนที่ผมบอกว่า ผิดหลักการความเป็นคนง่ายๆ ก็คือว่าในยุคปัจจุบัน ความเป็นคน ถ้าเราเห็นอะไรเกิดขึ้น เราก็พูดออกไปไม่ใช่หรือ ถ้าเรื่องนั้นเป็นเรื่องสาธารณะ แล้วเรื่องบทบาทสถาบันกษัตริย์ต่อการเมืองในอดีตที่ผมยกมา ต่อการเมืองเรื่องปัจจุบัน ความขัดแย้ง 4-5 ปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องสาธารณะมากๆ เลย แต่คุณบอกว่าห้ามพูด มัน make sense ตรงไหน คุณต้องการให้ประเทศไทยเป็นประเทศของเด็กอมมือไปตลอดหรือยังไง ถ้าไม่อย่างนั้นผมว่า นี่คือข้อเสนอ
จบทิ้งท้ายไว้นิดหนึ่ง มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ผมอยากจะฝาก ผมอยากจะขอฝากเรื่องนี้ไปถึงบรรดานักวิชาการ พวกอาจารย์ หรือว่าอาจารย์ที่ออกมารณรงค์ทั้งหลายแหล่เรื่องประชาธิปไตย ที่เคยลงชื่อไล่นายกฯคนนั้นคนนี้ นี่ผมพูดจริงๆ นะ คนเขาหมั่นไส้ผมมาก เพราะผมด่า แต่ผมไม่ด่าเขา ผมขอร้องแบบเพื่อนฝูงพี่น้องกันธรรมดาเลยนะ คือที่ผมขอร้องให้คุณ raise ประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ เอาง่ายๆ เลย มันขัดต่อความเป็นตัวตนของคุณของเรา เราเป็นปัญญาชนเป็นนักวิชาการ พอเราเห็นอะไรที่ไม่ถูก ก็พูดออกมาไม่ใช่เหรอ เวลาคุณเห็นนักการเมืองหรือใครทำไม่ถูกก็พูดออกมา แล้วพวกคุณรู้แน่ๆ ว่าสถานะและอำนาจของสถาบันกษัตริย์ที่เป็นอยู่ปัจจุบันไม่ถูกแน่ๆ รู้ว่างานที่ประโคมกันเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมันไม่ถูกแน่ๆ แต่พวกคุณเงียบอยู่ ด้วยเหตุผลอะไร คนเราเกิดมาหนเดียวตายหนเดียว แล้วทุกคนก็ไม่อยากลำบาก ผมก็ไม่อยากลำบาก ปีหน้า ศอฉ.อาจจะเอาแผนผังล้มเจ้ามาเล่นงานผม คือมันเดือดร้อนน่ะ ใช่ ผมเห็นด้วย แต่ว่าคนที่ตาย คนที่เขาอะไร เขาก็เดือดร้อนทั้งนั้น
ผมอยากจะเล่าเกร็ดอีกนิดหนึ่ง ผมไม่อยากจะยกราชประสงค์ ยก 6 ตุลาขึ้นมาแล้ว ผมเล่านิดหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน ผมเขียนบทความอันหนึ่ง เป็นช่วงครบรอบ 50 ปีของกรณีที่คุณชิต (สิงหเสนี) คุณบุศย์ (ปัทมศริน) ถูกประหารชีวิต คือปี 2498 ตอนผมเขียนบทความ ผมโกรธมาก โกรธจนตัวสั่น ใครอ่านบทความนั้นจะมองไม่ออกเลย บทความนั้นเต็มไปด้วยข้อมูล อ่านแล้วน่าเบื่อ ง่วงนอนด้วยซ้ำ แต่ผมสารภาพ ตอนเขียนผมโกรธจริงๆ เลยนะ พิมพ์ไปตัวสั่นมาก ผมโกรธ เพราะอะไรรู้ไหม คุณยกเรื่อง 6 ตุลา เรื่องราชประสงค์ อาจจะมีปัญหาว่า พวกนี้เป็นคอมมิวนิสต์ มีปัญหาต่อเสถียรภาพความมั่นคงของสถาบัน อะไรก็ว่าไป แต่คุณชิต คุณบุศย์ ผมลอง imagine ถ้าเขามีชีวิตอยู่มาถึงปัจจุบัน ผมว่าเขาต้องเป็นเสื้อเหลืองแน่ๆ เลย นี่ไม่ใช่เล่นๆ นะ ลูกหลานคุณชิตคนหนึ่งที่เป็นนักเขียน เป็นพวกพันธมิตรฯ ด่าทักษิณ ที่ผมตามเรื่องคุณชิต คุณบุศย์ มาหลายปี เพราะอะไรรู้ไหม ผมสะเทือนใจเรื่องนี้ คือคนซึ่ง โอ้โห จงรักภักดีสุดๆ เลยนะ ถ้าเป็นทางการเมืองก็คงถือว่า คงออกมาช่วยด่านักการเมือง ถือว่าจงรักภักดีมากๆ แล้วตายไปโดยที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่เลย คุณบุศย์ซึ่งเป็นคนที่สมองช้า ต้องยิงถึง 2 ชุดถึงจะตาย กระสุน 20 กว่านัด ตอนประหารชุดแรก ยิงแล้วไม่ตาย ต้องยิงชุดที่สอง จนกระทั่งมือแทบจะขาด ห้อยร่องแร่งเลย ผมอ่านพวกนี้ ผมโกรธมากเลยนะ สองคนนี้มันอะไร มันรอยัลลิสต์แท้ๆ เลย แล้วไม่รู้อิโหน่อิเหน่แท้ๆ เลย คือใครก็ตาม ทำให้ในหลวงอานันท์สวรรคต แล้วไม่มีความกล้าที่จะรับผิดชอบ เรื่องมันง่ายๆ แค่นี้
ที่ผมอยากบอกไปถึงนักวิชาการว่า ถ้าเวลาคุณเห็นเรื่องแบบนี้ แล้วคุณไม่รู้สึกว่าคุณต้องพูด คุณเห็นอะไรที่มันไม่ถูก แล้วไม่พูด ผมก็ไม่รู้จะพูดว่ายังไง นี่พูดจริงๆ นะครับ ไม่รู้จะเป็นไปทำไมนักวิชาการ เป็นไปทำไมปัญญาชน ตำแหน่งศาสตราจารย์ ตำแหน่งดอกเตอร์ ไม่รู้มีไปทำไม ถ้าไม่ใช้
No comments:
Post a Comment