2010-11-11

P.2010.11.11 - ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

"เรื่องเล่าเล็กๆ-เบาๆ" : ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์ The Observer พฤษภาคม 2500: "หากต้องการรู้ความจริงเกี่ยวกับกรณีสวรรคตควรไปถามพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลปัจจุบัน " : ความพยายามรื้อฟื้นกรณีสวรรคตของปรีดี-จอมพล ป ที่ล้มเหลว
สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


for B.E.
who used to make it all possible and worthwhile



เมื่อหลายวันก่อน หลังจากผมได้พยายามแต่ไม่สำเร็จเป็นเวลา 2-3 สัปดาห์ที่จะหาซื้อ "เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ" หนังสือใหม่ของวิมลพรรณ ปีตธวัชชัย ที่เปิดตัวอย่างเอิกเกริกเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพราะหนังสือระลอกแรกที่ออกวางจำหน่ายที่ศูนย์หนังสือจุฬาเพียงแห่งเดียว (จำนวน 2 พันชุด) ได้หมดไปในเวลาเพียงไม่กี่วัน โดยผมได้โทรศัพท์ไปตามที่ศูนย์หนังสือจุฬาและร้านนายอินทร์ทุกวัน เพื่อสอบถามว่า มีหนังสือระลอกใหม่ออกมาอีกหรือยัง ก็ได้รับคำตอบว่ายังไม่ออกมาทุกครั้ง (ภายหลังผมจึงทราบว่า ความจริงที่ร้าน "ขอบฟ้า" มีขายเช่นกัน แต่มีอยู่เพียงไม่กี่ชุด) อันที่จริง ผมได้เห็นหนังสือเล่มนี้แล้ว แต่เป็นการยืมของผู้อื่นมาพลิกๆและเปิดอ่านในเวลาสั้นๆ โดยผมมีโอกาสเปิดดูและอ่านบางส่วนเฉพาะบทที่เกี่ยวกับกรณีสวรรคตเท่านั้น ไม่มีเวลาดูทั้งหมด ในที่สุด ผมจึงตัดสินใจว่า จะหาทางสอบถามจากผู้เขียน คือ คุณวิมลพรรณ เองดีกว่า เพราะทั้งศูนย์หนังสือจุฬาและร้านนายอินทร์ก็ไม่ทราบว่า เมื่อไรหนังสือระลอกใหม่จะออกวางตลาด

ผมไม่รู้จักและไม่เคยพบคุณวิมลพรรณเป็นส่วนตัวมาก่อนเลย แต่ได้ยินว่าคุณวิมลพรรณทำงานอยู่ที่ "โพสต์ทูเดย์" ผมจึงใช้วิธีหาเบอร์โทรศัพท์ของ "โพสต์ทูเดย์" จากอินเตอร์เน็ต แล้วโทรดุ่มๆไป ไม่แน่ใจว่า จะพบตัว หรือคุณวิมลพรรณจะยินดีคุยกับคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนหรือไม่ หลังจากโทรไป โอเปอร์เรเตอร์ผู้รับสายส่วนกลางของ "โพสต์ทูเดย์" ได้ยืนยันว่าคุณวิมลพรรณทำงานที่นั่นจริง ผมจึงขอพูดด้วย โดยแจ้งชื่อของผมไป และรู้สึกเซอร์ไพรส์แบบดีใจไม่น้อย ที่คุณวิมลพรรณ ได้กรุณารับโทรศัพท์ผม ทั้งยังได้พูดคุยเกี่ยวกับหนังสือของเธอ และโดยเฉพาะเกี่ยวกับกรณีสวรรคต ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั้งคุณวิมลพรรณและผมได้เขียนถึงไว้ (หนังสือ "คลาสสิค" กรณีสวรรคต ในแนว "นิยมเจ้า" [royalist] "วิพากษ์ปรีดี" ของคุณวิมลพรรณ ที่เขียนร่วมกับ นพ.สรรใจ แสงวิเชียร ตีพิมพ์ในปี 2517 ขณะที่ผมยังอยู่ในขบวนการนักศึกษา และแม้ว่าผมจะไม่เห็นด้วยกับหนังสือคุณวิมลพรรณ- นพ.สรรใจ แต่ก็ได้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับกรณีสวรรคตจากการอ่านหนังสือเล่มนั้นอย่างมากทีเดียว ซึ่งเป็นรากฐานให้ผมสามารถทำการค้นคว้าและเขียนเกี่ยวกับกรณีสวรรคตได้ในระยะ 10 ปีเศษที่ผ่านมา คือหลังคุณวิมลพรรณ กว่า 20 ปี ซึ่งผมยินดีขอบคุณหนังสือของคุณวิมลพรรณไว้ด้วย)

คุณวิมลพรรณได้กรุณาคุยโทรศัพท์กับผมด้วยอัธยาศัยดีอยู่เป็นเวลาถึง 20-30 นาที เธอบอกว่า ได้ติดตามอ่านงานเกี่ยวกับกรณีสวรรคตของผมเช่นกัน และแม้จะมีความเห็นแตกต่างจากผม แต่ก็ยอมรับที่ผมพยายามทำงานเกียวกับเรื่องนี้ในลักษณะงานวิชาการ

ผมได้สอบถามเกี่ยวกับการที่เธอได้ไปค้นคว้าข้อมูลที่หอจดหมายเหตุที่วอชิงตัน, แมรี่แลนด์ และลอนดอน (ซึ่งผมเองก็มีความสนใจเป็นพิเศษมานาน และเคยใช้เอกสารจากแหล่งเหล่านั้น ในการเขียนเกี่ยวกับกรณีสวรรคตมาบ้าง) ซึ่งคุณวิมลพรรณก็ได้กรุณาเล่าให้ฟังอย่างน่าสนใจ ในฐานะนักประวัติศาสตร์เวลาพูดเรื่องเอกสารชั้นต้นในหอจดหมายเหตุ ผมจะตื่นเต้นสนใจมากเป็นพิเศษ (ใครเป็นนักเรียนประวัติศาสตร์คงพอนึกความรู้สึกออก คือประเภท "เอ็กไซ้ต์" มากๆ ขนลุกเลยอะไรประมาณนั้น) คุณวิมลพรรณเล่าว่าได้ ถ่ายเอกสารชั้นต้นจากแหล่งดังกล่าวขนกลับมาเมืองไทย (ถ้าผมจำไม่ผิด) นับพันหน้า ที่นำมาใช้เผยแพร่ใน "เอกกษัตริย์" เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกมากที่ไม่ได้นำมาใช้หรือเผยแพร่ ในฐานะนักประวัติศาสตร์ที่คลั่งไคล้เอกสารชั้นต้น ผมก็ยุให้เธอ หาทางตีพิมพ์เผยแพร่เอกสารเหล่านั้น หรือไม่ก็บริจาคให้กับห้องสมุดหรือหอจดหมายเหตุของไทยสักแห่ง แต่เธอบอกว่า ระหว่างนี้คงเก็บไว้ส่วนตัวก่อน

ในระหว่างที่พูดคุยเรื่องนี้ คุณวิมลพรรณ ได้เล่ายกกรณีหนึ่งที่เธอไปพบข้อมูลทีน่าสนใจเกี่ยวกับกรณีสวรรคตจากเอกสารทีหอจดหมายเหตุอังกฤษ แต่เธอตัดสินใจไม่นำมาเผยแพร่ไว้ใน "เอกกษัตริย์" เพราะบุคคลสำคัญที่ปรากฏในเอกสารนั้นได้เสียชีวิตไปแล้ว เธอเล่ารายละเอียดให้ผมฟัง ซึ่งผมก็เห็นว่าน่าสนใจมากๆ แต่ในฐานะที่การสนทนาของเราเป็นการสนทนาส่วนตัว ผมจึงรู้สึกว่า น่าเสียดายที่ผมควรต้องเคารพการตัดสินใจของคุณวิมลพรรณ และไม่สามารถนำมาเล่าต่อเช่นกัน

แต่หลังการสนทนากับคุณวิมลพรรณไม่กี่วัน ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับ ดร.ณัฐพล ใจจริง ซึ่งได้ไปใช้เวลาค้นคว้าเอกสารที่หอจดหมายเหตุในวอชิงตันเช่นกัน และได้ใช้เเอกสารจากแหล่งดังกล่าว ในงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของเขา (ที่ผมหวังอย่างยิ่งว่าจะมีการตีพิพม์เป็นเล่มเผยแพร่ในเวลาอันไม่นานนี้) ความจริง อ.ณัฐพล ได้กรุณามอบวิทยานิพนธ์ดังกล่าวในรูปไฟล์ pdf ให้ผมสักระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่วิทยานิพนธ์เสร็จใหม่ๆ แต่ผมยังไม่มีเวลาศึกษาอย่างละเอียดจนจบ (ส่วนหนึ่งเพราะการอ่านไฟล์ pdf หลายร้อยหน้า ทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ออกจะลำบากอยู่ และผมยังไม่มีโอกาสพิมพ์เป็นแผ่นกระดาษ)

เมื่อผมได้เปรยๆให้ ดร.ณัฐพล ฟังเกียวกับข้อมูลที่น่าสนใจที่คุณวิมลพรรณเล่าให้ผมฟัง แต่ผมคิดว่าคงไม่สามารถเผยแพร่ได้ดังกล่าว ดร.ณัฐพล ได้บอกผมว่า ความจริง ข้อมูลนั้น เขาได้ค้นพบและได้เขียนไว้ในวิทยานิพนธ์ของเขาแล้ว ผมจึงเปิดไฟล์วิทยานิพนธ์ของ ดร.ณัฐพล ดู ก็ปรากฏว่า เป็นความจริง เพียงแต่ก่อนหน้านี้ ผมยังอ่านไปไม่ถึง เพราะอยู่ในบทท้ายๆของวิทยานิพนธ์

ผมจึงถือว่า ถ้าผมจะนำข้อมูลนี้ มาเล่าในที่สาธารณะ อย่างที่กำลังทำนี้ ก็คงไม่เป็นการละเมิดหรือไม่เคารพในความตั้งใจของคุณวิมลพรรณ ที่เล่าให้ผมฟังในการสนทนาส่วนตัวแต่อย่างใด เพราะอย่างไรเสีย ก็ต้องถือว่า เป็นข้อมูลที่ ดร.ณัฐพล ได้เผยแพร่ไปแล้วทางสาธารณะในวิทยานิพนธ์ ซึ่งในที่สุด ผมเองก็คงต้องได้อ่านพบจนได้อยู่นั่นเอง แต่การที่ผมได้ฟังจากคุณวิมลพรรณ ก็ช่วยทำให้ผมรู้เรื่องนี้เร็วขึ้น

ที่ผมเล่าเรื่องนี้มาอย่างยืดยาว ก็เพราะว่าในฐานะนักประวัติศาสตร์ ผมถือว่าการค้นพบข้อมูลใหม่ๆนั้น เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในเมื่อผมไม่ได้เป็นผู้พบเอง ก็ไม่ควรจะเล่าโดยไม่ให้เครดิตกับผู้พบ ในกรณีนี้ ผมเล่าถึงการสนทนาเรื่องนี้กับคุณวิมลพรรณ ก็เพื่อจะประกาศขอบคุณ (acknowledge) ว่า ข้อมูลนี้ ผมรู้มา ก็เพราะคุณวิมลพรรณบอกผมก่อน แล้วผมจึงไปถาม ดร.ณัฐพล ถือเป็นการให้เครดิตกับทั้งคุณวิมลพรรณและ ดร.ณัฐพล ในที่นี้ และหากคุณวิมลพรรณ บังเอิญได้มาอ่านข้อเขียนนี้ของผม จะได้ไม่เคืองใจว่า ผมได้นำการสนทนาส่วนตัวมาเล่าต่อ เพราะความจริง ข้อมูลที่คุณวิมลพรรณตัดสินใจว่า ยังไม่ต้องการเผยแพร่นั้น ได้มีผู้เผยแพร่แล้ว คือ ดร.ณัฐพล ในวิทยานิพนธ์ และที่ผมเล่านี้ ก็นำมาจากที่ ดร.ณัฐพล เขียนไว้ในวิทยานิพนธ์นั้น

ผุ้อ่านที่อ่านมาถึงจุดนี้ และได้เห็นชื่อของข้อเขียนชิ้นนี้ข้างบนแล้ว ก็คงพอจะเดาได้ว่าข้อมูลที่คุณวิมลพรรณเล่าให้ผมฟังเกี่ยวข้องกับใคร ครับ ผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว และทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้นั้นที่คุณวิมลพรรณไปค้นพบ เป็นเรื่องที่คุณวิมลพรรณ ไม่ต้องการเผยแพร่ต่อ คือ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภรรยาของ ปรีดี พนมยงค์ นั่นเอง

คุณวิมลพรรณบอกผมว่า ที่ไม่ต้องการเผยแพร่ เพราะไม่ต้องการให้เสียหายแก่ท่านผู้หญิงซึ่งเสียชีวิตแล้วได้ ผมเชื่ออย่างจริงใจ ในความบริสุทธิ์ใจและจริงใจของคุณวิมลพรรณที่ตัดสินใจไม่เผยแพร่ก็เพราะเหตุนี้ ระหว่างสนทนากับคุณวิมลพรรณ ผมก็รู้สึกนับถือในลักษณะที่เรียกว่า old-fashioned courtesy (ผมใช้คำนี้ในความหมายที่ดีนะครับ) ของคุณวิมลพรรณนี้ไม่น้อย

แต่เมื่อผมได้อ่านข้อมูลนี้ ในวิทยานินพ์ของ ดร.ณัฐพล ผมได้เกิดความคิดฉับพลันขึ้นมาว่า สงสัย คุณวิมลพรรณ ไม่เข้าใจนัยยะสำคัญบางอย่างของข้อมุลนี้ ผมเองตอนสนทนากับคุณวิมลพรรณ ก็นึกไม่ถึงเหมือนกัน และเข้าใจว่า ตอนที่ ดร.ณัฐพล อ้างข้อมุลนี้ไว้ในวิทยานิพนธ์ ก็ไม่ได้คิดไปถึงนัยยะที่ผมเพิ่งนึกขึ้นได้เช่นกัน เพราะเมือ่ผมเล่าความคิดของผม (ที่กำลังจะเล่าต่อไปข้างล่างนี้) ให้ ดร.ณัฐพล ฟัง ดร.ณัฐพล ก็นึกขึ้นได้ และสนับสนุนว่า การตีความนัยยะของข้อมุลนี้ของผม น่าจะเป็นจริงอยู่มาก

เรื่องนี้ ดังที่เขียนไว้ในชื่อข้อเขียนนี้ เกี่ยวพันถึงการให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง ของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ในปี 2500 เกี่ยวกับกรณีสวรรคต ความจริง ท่านผู้หญิงดูเหมือนจะพูดไว้เพียงประโยคเดียว (ตามที่ยกมาเป็นส่วนหนึ่งของชื่อข้อเขียนนี้) แต่ผมเชื่อว่านัยยะของคำให้สัมภาษณ์ประโยคเดียวนี้ สำคัญมาก . . . .



.....................



ยังมีต่อ : ขออภัย ผมยัง "ป่วย" อยู่มาก ไม่สามารถเขียนอะไรให้จบรวดเดียว หรือหลายกรณีคือให้จบจริงๆได้ (การเขียนเป็น therapy อย่างหนึ่งถ้าจะว่าไป) แต่กรณีนี้ ค่อนข้างมั่นใจว่า จะเขียนให้ "จบ" ได้ เพราะมีเนื้อหาจริงๆไม่มาก - ทีตั้งชื่อว่า "เรื่องเล่าเล็กๆ-เบาๆ" ก็ต้องการให้หมายถึงเช่นนี้ ความจริง ผมอยากทำบทวิจารณ์ "เอกกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ" บทที่เกี่ยวกับกรณีสวรรคต ออกมาเหมือนกัน และรู้ดีว่า หลายคน "รอ" หรืออยากให้ผมทำ แต่เท่าที่ลองลงมือร่างๆดูคร่าวๆ ปรากฏว่าทำได้น้อยกว่าเรื่องที่กำลัง "เล่า" นี้เสียอีก เพราะต้องใช้ "แรง" มากกว่า "เรื่องเล่าเล็กๆ-เบาๆ" แบบนี้ จึงไม่รับปากว่าจะมีบทวิจารณ์ดังกล่าวออกมา ผมขออนุญาต แสดงความเห็นเล็กๆเกี่ยวกับบทวิจารณ์ของคุณ ดอม ด่านตระกูล ที่เผยแพร่ไปแล้วว่า ในขณะที่ผมนับถือคุณดอมที่พยายามจะสืบทอดงานของคุณพ่อ และบทวิจารณ์ของคุณดอม ก็ได้ชี้ให้เห็นความจริงบางประเด็นที่วิมลพรรณเขียนผิด แต่ในทีสุดแล้ว บทวิจารณ์ของคุณดอม ยังไม่ได้ตอบสิ่งที่เป็น "หัวใจ" ของ "การท้าทาย" ของงานของวิมลพรรณ โดยแท้จริง ซึ่งผมเห็นว่า มีอยู่ 2 ประเด็นใหญ่ ที่สำคัญ คือ

(1) ทำไมคณะแพทย์ที่ชันสูตรพระบรมศพ (รวมทั้งแพทย์อังกฤษ) จึงลงความเห็นว่ากรณีสวรรคตเป็นการลอบปลงพระชนม์

(2) เมื่อเสียงปืนทีปลิดพระชนม์ชีพในหลวงอานันท์ดังขึ้นนั้น สมเด็จพระอนุชา (คือในหลวงภูมิพลในปัจจุบัน) ทรงประทับอยู่ที่ใด ทรงมี สิ่งที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งว่า alibi (พยานยืนยันว่าไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ) อย่างแน่นหนา (ถ้าพูดตามคำของพระองค์เจ้าธานีนิวัตร คือ ทรงมี iron-clad alibi) จริงหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต่อเนื่องอย่างแนบแน่นกับประเด็นในข้อ (1)


จะเห็นว่า เรื่องที่ผมเห็นว่า ควรวิจารณ์ตอบโต้หนังสือวิมลพรรณกลับทั้ง 2 เรือ่งนี้ ไมใช่เรื่องประเภทที่สามารถ "เล่าเล็กๆ-เบาๆ" แบบเรื่องที่กำลังเล่าข้างบนนี้ได้ (ความจริง เรื่องข้างบนจะว่าไป ก็ไม่ "เล็กๆ" หรือ "เบาๆ" นัก แต่ยังสามารถ "เล่า" ได้ง่ายกว่า เพราะข้อมูลมี "นิดเดียว

http://weareallhuman2.info/index.php?showtopic=49675&s=92ccb7ca376431d77daa0bdd043df453

No comments:

Post a Comment