2010-11-22

N.2010.11.22 - Flood - 2

ฝ่าคลื่นทะเลใต้ (3) บทเรียนจากหาดใหญ่


โดย บรรจง นะแส15 พฤศจิกายน 2553 17:25 น.


นับเป็นความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง ของเมืองที่เรียกกันว่า “เมืองหลวงของภาคใต้” อย่างหาดใหญ่ อันเกิดจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1-5 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา ที่จริงเมืองหาดใหญ่เคยประสบกับภัยพิบัติเช่นเดียวกันนี้มาแล้วเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา คือ ในปี 2543 ในปีนั้นฝนตกลงมาอย่างหนักโดยเฉพาะระหว่างวันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2543 ในปีนั้นน้ำฝนที่ตกในเขตเทือกเขาสันกาลาคีรี บริเวณพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซีย ซึ่งปกติจะระบายผ่านคลองอู่ตะเภา ผ่านเขตอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาไหลออกสู่อ่าวไทยบริเวณทะเลสาบสงขลา
     
       แต่ในปี พ.ศ. 2543 การระบายน้ำทำได้ไม่ดีเนื่องจากคูคลองตื้นเขิน และมีแนวคันกีดขวางทางเดินของน้ำ คือ ถนนลพบุรีราเมศวร์ ที่สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2533 ถนนสายสนามบิน-ควนลัง และทางรถไฟ ประกอบกับพื้นที่ของตัวอำเภอหาดใหญ่มีลักษณะเป็นที่ลุ่มรูปแอ่งกะทะ ทำให้เกิดน้ำท่วมสูงในบริเวณตัวเมืองชั้นใน มีความเสียหายเป็นมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านบาท จำนวนผู้เสียชีวิตตามประกาศจากทางราชการว่ามีผู้เสียชีวิต 35 คน โดยจำนวนผู้เสียชีวิตจริง ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ สูงถึง 233 คน ไม่รวมชาวต่างประเทศ ภายหลังเหตุการณ์
     
       หลังจากภัยพิบัติเกิดความสูญเสียต่อเมืองหาดใหญ่อย่างหนักในปี 2543 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมชลประทานจัดทำโครงการบรรเทาอุทกภัย อำเภอหาดใหญ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อีกทั้งภาครัฐยังได้จัดทำงบประมาณเพื่อป้องกันเหตุอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต แต่ต่อมาได้มีการปล่อยปละละเลย ไม่ได้ติดตามความคืบหน้า การเกิดขึ้นของอุทกภัยซ้ำอีกครั้งใน 16 อำเภอของจังหวัดสงขลา และเขตรอบนอกของตัวเมืองหาดใหญ่ การเกิดขึ้นของอุทกภัยระหว่างวันที่ 13-20 ธันวาคม พ.ศ. 2548แม้จะส่งผลไม่รุนแรงเท่ากับการสูญเสียที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2543 แต่ก็มีผู้ประสบความเดือดร้อนเป็นจำนวนมากเช่นกัน
       แต่ความสูญเสียในตัวเมืองหาดใหญ่ไม่มากเท่าเหตุการณ์ 1-5 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา ทำให้เป็นส่วนหนึ่งของความเสียหายจำนวนมากในครั้งนี้ เพราะคนส่วนใหญ่มีความมั่นใจในแนวการป้องกันที่สามารถรองรับภัยพิบัติโดยเฉพาะเหตุอันเกิดจากน้ำท่วม เพราะมีตัวอย่างของระบบต่างๆ สามารถรับมือได้โดยคิดว่าจะสามารถป้องกันได้ไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงเหมือนกับปี 2548
     
       บทเรียนจากภัยพิบัติที่ก่อให้เกิดความสูญเสียของเมืองหาดใหญ่ในครั้งนี้ จึงเป็นบทเรียนของเมืองหาดใหญ่และของสังคมไทยโดยรวม ว่าเราจะรับมือกับวิกฤตเช่นนี้อีกอย่างไรในอนาคต เพื่อป้องกันความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น เพราะมันหมายถึงความเสียหายของปัจเจกบุคคลและของประเทศชาติโดยรวม กว่าที่จะฟื้นฟูบูรณะให้กลับคืนสู่ภาวะปกติต้องใช้เวลาและทรัพยากรโดยเฉพาะงบประมาณของแผ่นดินไปเป็นจำนวนมาก การเตรียมการเพื่อรับมือกับภัยธรรมชาติจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องลงทุน การจัดระบบเฝ้าระวังการเตือนภัยจึงมีความสำคัญเบื้องต้นที่สังคมเราควรให้ความสำคัญ การเตือนภัยธรรมชาติหลักๆ ต้องมี 3 อย่างด้วยกันคือ
     
       1. ข้อมูล ข้อมูลสถิติต่างๆ ของปริมาณน้ำฝน ฤดูกาลที่เกี่ยวข้องในแต่ละภูมิภาคฯลฯ กรณีของน้ำท่วมใหญ่หาดใหญ่ทั้งในปี 2543 และปี 2553 ล้วนเกิดในช่วงเวลาเดียวกันคือเดือนพฤศจิกายน
     
       2. ผู้ที่นำข้อมูลนี้ไปใช้ในการปฏิบัติ การถ่ายทอดข้อมูลที่ฉับไว หลายๆ ช่องทาง
     
       3. การเตือนภัย การสร้างกลไกการเตือนภัยทั้งในระดับในเมืองและชุมชนเป็นสิ่งจำเป็น
     
       แต่ปัญหาคือต่างคนต่างทำ สุดท้ายก็ไม่มีประโยชน์อะไรขึ้นมา กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนภัยมาแล้ว 20 กว่าฉบับ มีการบอกถึงขั้นฝนจะตกหนักตรงนั้นตรงนี้ พายุดีเปรสชันจะเข้าเวลานั้นเวลานี้ ปริมาณจุดที่พายุจะเข้าฝั่ง ปริมาณฝนตกหนักขนาดนี้จะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ถ้าคนที่ได้รับการเตือนถือไปปฏิบัติตาม ถ้าผู้บริหารท้องถิ่น จังหวัด ให้มีคำสั่งอพยพ หรือหาทางป้องกัน หากระสอบทราย ขุดลอกหนองบึงให้ทางน้ำไหลได้คล่อง รวมทั้งเตือนประชาชนให้ยกของไว้ล่วงหน้า หรือเตรียมอาหาร อุปกรณ์ที่มีความจำเป็นกักไว้ ความเสียหายมันก็จะน้อยลง บทเรียนน้ำท่วมหาดใหญ่และพายุดีเปรสชันกระหน่ำพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยครั้งนี้จึงเป็นบทเรียนราคาแสนแพงของสังคมไทยอีกครั้ง.



http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9530000161505




ฝ่าคลื่นทะเลใต้ (4)

โดย บรรจง นะแส22 พฤศจิกายน 2553 16:01 น.


บทเรียนจากหาดใหญ่ (2)
       
        ต้องพูดถึงบทเรียนน้ำท่วมที่หาดใหญ่ต่อเนื่องอีกสักครั้ง เผื่อเป็นประโยชน์กับพวกเราที่เป็นประชาชนด้วยกัน ที่เป็นทั้งปัจเจกที่ต้องดูแลครอบครัว ทรัพย์สินของตัวเองและในฐานะภาคประชาสังคม ที่รวมตัวกันในฐานะเพื่อนฝูง กลุ่มกิจกรรมสาธารณะในรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีอยู่ทั่วไป ไม่เฉพาะในเมืองหาดใหญ่และสงขลา เอาสิ่งที่ผมประสบด้วยตัวเองที่หลังจากพายุพัดผ่านหมู่บ้านไปประมาณหนึ่งชั่วโมง ไฟฟ้าดับทั้งหมู่บ้าน ตอนหลังก็ทราบว่าไฟฟ้าดับทั้งเมือง ทั้งในตัวอำเภอเมืองสงขลาและหาดใหญ่ ต้นไม้ล้มระเนนระนาด
       
        สิ่งที่กังวลก็คือมีบ้านของญาติพี่น้องในหมู่บ้านโดนต้นไม้โค่นล้มทับบ้างไหม ตอนหลังจึงได้ทราบว่าโดนเข้าไปเต็มๆ 3 หลัง เดชะบุญที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต กำลังคิดว่าถ้าคืนนั้นมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสสัก 2-3 ราย เราจะทำอย่างไร? เพราะถนนในหมู่บ้านถูกต้นไม้ใหญ่ๆโค่นทับเส้นทางจนหมด แม้จะมีรถยนต์กันหลายคันในหมู่บ้าน เราก็ไม่สามารถนำคนเจ็บส่งโรงพยาบาลได้เลย นี่คือสิ่งที่ชุมชนจะต้องคิดหาช่องทางเตรียมการไว้หากเกิดสถานการณ์เช่นนี้ขึ้นมาอีก
       
        การสื่อสารทุกอย่างจบลงอย่างสิ้นเชิง เสียงตามสายในหมู่บ้าน โทรศัพท์ทุกเครือข่ายล้มใช้การไม่ได้ มีแต่เสียงเรียกหาตะโกนกันโหวกเหวกเพื่อถามข่าวคราวกัน โชคดีผมชอบเล่นวิทยุสื่อสารในเครือข่ายของประชาชน คือ วิทยุสมัครเล่น (วีอาร์) เพราะได้ใช้ประโยชน์เวลาเดินทางไปต่างจังหวัด ได้สอบถามเส้นทาง ได้พูดคุยกับเพื่อนสมาชิกในเรื่องราวต่างๆ ในแต่ละเรื่องราวที่ชอบและสนใจตรงกัน แต่การเข้าถึงอุปกรณ์ดังกล่าว ในแต่ละชุมชนมีผู้คนที่สามารถเข้าถึงและเป็นเจ้าของมีอยู่ไม่มากนัก เพราะต้องไปสอบเพื่อขออนุญาตในการใช้และมีเครื่องมือสื่อสารดังกล่าว มันเหมือนเครื่องเล่นของคนจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่สามารถจะเข้าถึงได้ ประชาชนทั่วไปไม่ได้เข้าถึงสิ่งนี้เพราะไม่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวันและมีราคาแพงเกินที่จะนำมาเป็นเครื่องเล่นประจำครัวเรือนได้
       
        ผมใช้เครื่องวิทยุสมัครเล่นเพื่อติดตามข่าวคราวของเหตุการณ์ภายนอก ทำให้ได้รู้ว่าความเสียหายจากพายุในหลายพื้นที่ ตั้งแต่อำเภอระโนด สทิงพระ สิงหนคร กระแสสินทร์ พื้นที่รอบๆ ทะเลสาบสงขลา รวมไปถึงเหตุการณ์น้ำหลากในพื้นที่อำเภอสะเดาและในตัวเมืองเทศบาลนครหาดใหญ่ เสียงบอกกล่าวกันว่าเกิดความสูญเสียที่โน่นที่นี่ที่นั่นอื้ออึงไปทั้งย่านความถี่ สะพานขาดตรงโน้นตรงนั้น ต้นไม้ล้มขวางเส้นทางที่โน่นที่นั่น ทำให้ผมได้ทราบว่าเหตุการณ์ครั้งนี้มันหนักและน่ากลัวไม่น้อย
       
        และที่เจ็บปวดใจที่สุดที่ผมเฝ้าตามฟังเหตุการณ์ก็คือเหตุการณ์ดินถล่มทับบ้านที่สิงหนคร เพื่อนสมาชิกที่อยู่ใกล้เหตุการณ์รายงานว่ามีคนอยู่ในบ้านหลายคน ขอให้ช่วยกันแจ้งข่าวให้หน่วยงานราชการหน่วยไหนก็ได้ ได้โปรดเข้ามาช่วยเหลือด่วน มีการแจ้งกันไปเป็นทอดๆ ในหมู่สมาชิกและมีคนเสนอให้คนที่อยู่ใกล้ๆ ได้เข้าไปช่วยกัน ชั่วโมงแล้วชั่วโมงเล่าเหตุการณ์สถานการณ์ยังเหมือนเดิม จนรุ่งเช้าผมก็ทราบว่าไม่มีใครสามารถช่วย 5 ชีวิตที่ติดอยู่ในบ้านได้ ทุกคนเสียชีวิต…..
       
        เมื่อสามารถออกจากหมู่บ้านได้ในสายๆ ของวันที่ 1 พฤศจิกา ผมพยายามเข้าไปในหาดใหญ่แต่หลายเส้นทางผ่านไปไม่ได้ ถนนเต็มไปด้วยน้ำ ซอกแซกไปตามเส้นทางจนเข้าไปถึงมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์หาดใหญ่ สิ่งที่ประทับใจที่ได้พบเห็นก็คือเหล่าอาจารย์ข้าราชการและบุคลากรของมหาลัยและนักศึกษา ต่างออกมาช่วยกันหุงหาอาหาร ตามคณะต่างๆ เป็นจุดๆ เพื่อทำอาหารไปแจกจ่ายให้กับผู้ที่ไม่สามารถออกจากบ้านเรือนในตัวเมืองหาดใหญ่ หน่วยงานการกุศลต่างๆ ที่มีอยู่ในตัวเมืองหาดใหญ่พร้อมอาสาสมัครออกกันมาเพื่อหาหนทางช่วยเหลือผู้ที่กำลังประสบภัยกันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ณ เวลานั้นผมไม่เห็นบทบาทของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมากนัก พูดได้ว่าเหตุการณ์เฉพาะหน้านั้นมีแต่ภาคประชาชนล้วนๆ ที่ขยับตัวกันออกมาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
       
        สิ่งหนึ่งที่ควรได้รับการบันทึกเอาไว้ถึงคุณูปการของภาคประชาชนก็คือ ในยามที่พี่น้องร่วมชาติประสบภัยพิบัติ จิตใจที่เมตตาโอบอ้อมอารีของผู้คนในสังคมของเรายังมีอยู่เต็มเปี่ยม เครือข่ายการสื่อสารที่พอขยับตัวได้ทั้งวิทยุของมหาวิทยาลัย ทีวีท้องถิ่น วิทยุชุมชนของวัดของชุมชนต่างออกมาแสดงบทบาทรับผิดชอบต่อเหตุการณ์อย่างทันท่วงทีและเกาะติดสถานการณ์อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
       
        ผมประทับใจระบบการสื่อสารของภาคประชาชนที่ผนึกกำลังกันช่วยเหลือพี่น้องยามทุกข์ เครือข่ายวิทยุสมัครเล่นหลายกลุ่มหลายช่องความถี่ รวมถึงวิทยุเครือข่ายภาคประชานที่ใช้ช่องความถี่245 อย่างศูนย์ชาลีในตัวเมืองหาดใหญ่ ศูนย์หลักเมืองของอำเภอเมืองสงขลา (เครือข่ายวิทยุสมัครเล่นใช้ช่องความถี่ 144) ต่างออกกันมารายงานเหตุการณ์ แจ้งเหตุชี้เป้า ประสานกับหน่วยปฏิบัติการตามจุดต่างๆ ให้เข้าไปช่วยเหลือ แม้อาจจะดูวุ่นวายสับสนทับซ้อนกันจนยุ่งเหยิงไปหมด แต่ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพ
       
        โจทย์จึงอยู่ที่ว่าแต่ละเมืองที่โอกาสจะเกิดเหตุภัยพิบัติขึ้นในอนาคต เราจะวางแผนเตรียมรับมือกับเหตุการณ์เช่นนี้อย่างไรบ้าง ที่ทำให้เป็นที่รับรู้ของประชาชนโดยทั่วไป หน่วยงานของรัฐที่มีงบประมาณในการสนับสนุนเพื่อเตรียมการรับมือควรจะมีเป้าหมายในแต่ละเรื่องเช่นไร เช่น อุปกรณ์ต่างๆ เช่น เรือท้องแบน เลื่อยตัดต้นไม้ใหญ่ ระบบพลังงานสำรอง การสนับสนุนระบบการสื่อสารภาคประชาชน ตามโซนพื้นที่ การกำหนดพื้นที่รับการอพยพผู้คน ครั้งนี้ที่หาดใหญ่ เราใช้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ค่ายเสนาณรงค์ วัดโคกสมานคุณ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์สวนยาง ตลาดพงษ์เจริญถนนลพบุรีราเมศว์ วัดคลองเปล ฯลฯ เป็นจุดรับผู้ได้รับภัยพิบัติรวมทั้งเป็นแหล่งศูนย์การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น ทั้งในเรื่องที่พัก อาหาร ฯลฯ
       
        จุดต่างๆ เหล่านั้นครอบคลุม กระจายเพื่อรองรับได้ครอบคลุมพื้นที่มากน้อยแค่ไหน คือโจทย์ของทุกเมืองที่ควรจะได้รับการกำหนดและจัดวางพร้อมทั้งประกาศให้รับรู้ร่วมกันของประชาชนแม้ในยามสถานการณ์ปกติ บทเรียนภัยพิบัติน้ำท่วมและพายุกระหน่ำเมืองสงขลาและหาดใหญ่ในครั้งนี้ ผมหวังว่าคงเป็นโจทย์ให้แต่ละเมืองแต่ละพื้นที่ได้ตระหนักและเตรียมการไว้บ้างไม่มากก็น้อย….


http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9530000165171







No comments:

Post a Comment