2010-11-22

N.2010.11.22 - Flood - 1

ฝ่าคลื่นทะเลใต้ (1) ปักษ์ใต้บ้านของฉันประเทศของเรา


โดย บรรจง นะแส1 พฤศจิกายน 2553 12:04 น.


50 กว่าขวบปีที่ไม่เคยจากปักษ์ใต้บ้านเกิดไปนานเกิน 3 เดือน ชีวิตกำเนิดขึ้นและเติบโตใช้ชีวิตวนเวียนอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ของตำบลเล็กๆ ตรงเขตรอยต่อระหว่างอำเภอจะนะกับอำเภอเมืองของจังหวัดสงขลา เห็นชีวิตการทำสวนทำนาของครอบครัวและเพื่อนบ้าน พบเห็นการไปหักร้างถางป่าเพื่อทำสวนยางพาราของครอบครัวและเพื่อนบ้านเพื่อที่ไปบุกเบิกทำสวนยางพาราและผลไม้ในพื้นที่อำเภอจะนะและสะเดา ( ถ้าเป็นสมัยนี้ก็ต้องพูดว่าตัดไม้ทำลายป่า เพราะภาพของการสร้างห้างร้านเพื่อตัดโค่นต้นตะเคียนทอง ต้นหลุมพอขนาดใหญ่ ที่พื้นของหลุมแต่ละด้านกว้างกว่าผืนเสื่อ)
     
       ผมเห็นการขุดดินด้วยจอบล้วนๆ เพื่อเปลี่ยนป่าละเมาะให้เป็นที่ทำนา ในสมัยนั้นเรียกกันว่า “การหักนา” เห็นการดำรงชีพของผู้คนในหมู่บ้านที่อิงอยู่กับฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน ไม่ว่าแหล่งอาหารตามป่า ในลำคลอง ลำห้วย ฯลฯ วิถีของชุมชนไม่ได้หอมหวานหรือรื่นรมย์ไปเสียทุกอย่าง การเอาเปรียบกัน การรังแกกัน หรือการมุ่งทำร้ายเอาชีวิตซึ่งกันและกันก็มีให้พบเห็นอยู่เสมอๆ
     
       ด้วยเหตุที่หมู่บ้านและตำบลมีอาณาเขตที่ใกล้ชิดกับอำเภอจะนะ ซึ่งพี่น้องส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ทำให้รุ่นลูกๆ หลานๆ ของชุมชนพุทธและมุสลิมอย่างพวกเราได้พบเห็นและเรียนรู้ความสัมพันธ์ของชุมชนที่แตกต่างกันทั้งทางความเชื่อของศาสนาและวัฒนธรรม พบเห็นการพึ่งพากันระหว่างชุมชนประมงชายฝั่งที่ต้องอาศัยตลาดตำบลของเราเป็นแหล่งขายผลผลิตจากทะเล เป็นแหล่งพืชน้ำมันอย่างมะพร้าวที่ผู้คนในตำบลของเราต้องไปหาซื้อที่นั่น เส้นทางผ่านของหมู่บ้านระหว่างชุมชนได้สานสร้างความสัมพันธ์ของผู้คน ได้พบเห็นการเกื้อกูลกัน เคารพกันในความแตกต่าง (ที่บ้านคุณตาจะมีเสื่อสำหรับละหมาดของเพื่อนคุณตาที่พวกเราจะไม่นำมาปูนั่งเล่นเป็นอันขาด เมื่อเพื่อนคุณตาละหมาดเสร็จคุณยายก็จะม้วนเสื่อผืนนั้นแล้วมัดเชือกแขวนไว้)
     
       การเชื่อมโยงกันด้วยลักษณะของเครือญาติที่แตกต่างของศาสนาเพราะมีการแต่งงานกันไปมาก็เป็นสายสัมพันธ์ที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน และแน่นอนกรณีการเกิดขึ้นของเรื่องราวโดยเฉพาะกรณีหะยีสุหลง ก็ทำให้พวกเราได้รับรู้รับฟังการพูดถึงการกดขี่รังแก การมีขบวนการตอบโต้เพื่อปลดปล่อยในวงการพูดคุยของผู้ใหญ่ในสมัยนั้น ซึ่งถึงวันนี้เรื่องราวของกรณีเหตุการณ์ไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ก็หาได้เกิดขึ้นโดยไร้ร่องรอยของอดีต…..
     
       ภาคใต้ของฉันประเทศของเรา ตั้งอยู่ระหว่างละติจูดที่ 5 ถึง 12 องศาเหนือ และลองติจูดที่ 98 ถึง 103 องศาตะวันออก ประกอบด้วย 14 จังหวัด ประกอบด้วย 14 จังหวัด คือ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา กระบี่ นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง ภูเก็ต สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 44,196,992 ไร่ หรือ 70,715.187 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 13.78 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ มีอาณาเขตด้านทิศเหนือจดอำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ด้านทิศใต้จดประเทศมาเลเซีย
     
       ด้านทิศตะวันออกจดอ่าวไทยและทะเลจีนใต้ ด้านทิศตะวันตกจดทะเลอันดามันและสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ด้านทิศใต้จดประเทศมาเลเซีย ด้านทิศตะวันออกจดอ่าวไทยและทะเลจีนใต้ ด้านทิศตะวันตกจดทะเลอันดามันและสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า การสัมมโนประชากรครั้งสุดท้ายในปี 2550 ประชากรของภาคใต้มีประชากรทั้งหมด 8,654,831 ล้านคน
     
       เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยโดยรวมภาคใต้นับเป็นเพียงส่วนน้อยทั้งในแง่ของพื้นที่ ประชากรแต่ในแง่ของทรัพยากร ทั้งบนบกและในทะเล รวมไปถึงผลิตผลจากการบุกเบิกสร้างทรัพย์สินที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของบรรพบุรุษไม่ว่ายางพารา ปาล์มน้ำมัน ธุรกิจการประมง การท่องเที่ยว ซึ่งเป็นฐานเศรษฐกิจที่ทำให้คนภาคใต้อยู่มาได้โดยไม่อัตคัตมากนัก ภาคใต้ได้รับการพัฒนาในด้านเส้นทางคมนาคมและระบบสาธารณูปโภคแทบจะเป็นอันดับท้ายๆ ของประเทศ แต่การขุดคุ้ยเอาทรัพยากรของภาคใต้ไปพัฒนาเป็นรายได้ของประเทศนี้เป็นมาอย่างยาวนาน ทั้งป่าไม้ ดีบุก ตะกั่ว แทนทาลั่ม ฯลฯ นับไม่รวมถึงความพยายามที่จะผลักดันให้ภาคใต้เป็นที่รองรับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อย่าง Southern Seabord, Landbridge, IMT-GT เป็นต้น
     
       การที่ชีวิตต้องผกผันเข้าสู่ระบบการศึกษาในช่วงรอยต่อของการคลี่คลายความขัดแย้งใหญ่ของสังคมไทย ระหว่างปี 2523-2524 ทำให้ได้มีโอกาสพานพบกับนักรบผู้ไม่ยอมจำนน แต่ปรับเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีการในการที่จะสร้างสังคมที่ดีงามให้เกิดขึ้น ภายใต้งานพัฒนาชนบทที่มีคำขวัญว่า “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” 30 กว่าปีที่กระโจนเข้าสู่วงการที่เรียกว่างานพัฒนาชนบท ทำให้ได้มีโอกาสพบเห็นปัญหาและทางออกของหลากหลายอาชีพที่รวมกันเป็นสังคมภาคใต้และของประเทศ ได้พบเห็นสังคมที่แม้จะไม่ถึงกับการสร้างสังคมเชิงอุดมคติในอากาศ แต่มันคือการจัดโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ที่เป็นสติปัญญาของเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกที่สามารถสร้างขึ้นได้มาแล้วบนโลกใบนี้
     
       โครงสร้างที่ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดีๆไว้ โครงสร้างที่สามารถกระจายทรัพยากรอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม โครงสร้างที่รับผิดชอบต่อผู้ที่อ่อนแอกว่าไม่มีการกดขี่ข่มเหง มีกฎกติกาที่เอื้อต่อสิทธิและเสรีภาพอย่างเสมอภาคของทุกๆ คน….ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะต้องฟันฝ่าปัญหานานัปการ ผมขอเรียกเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้นี้ว่า “ฝ่าคลื่นทะเลใต้” ก็แล้วกันนะครับ……

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9530000153646




ฝ่าคลื่นทะเลใต้ (2) วันพายุกระหน่ำ


โดย บรรจง นะแส8 พฤศจิกายน 2553 15:37 น.


 เป็นประสบการณ์ที่อยากบันทึก อยากบันทึกเอาไว้ว่าค่ำคืนของวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 ตั้งแต่เวลา 21.30-22.30 น.โดยประมาณ ณ บ้านสวนใต้ หมู่ที่ 2 ต.ทุ่งหวัง อ.เมือง จังหวัดสงขลา หมู่บ้านของเราห่างจากตัวจังหวัดสงขลาไปทางอำเภอจะนะระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตรได้เกิดพายุดีเปรสชันพัดกระหน่ำผ่านหมู่บ้านของเรา เสียงหวีดหวิว ฟ้าแลบฟ้าร้อง ฝนตกลงมาราวกับฟ้ารั่ว ประตูหน้าต่างบ้านปิดตามแรงลมเสียงโครมครามๆ ไฟฟ้าดับลงทันทีทันใด
     
        ผมอยู่บ้านกับลูกชายเพียง 2 คน เราช่วยกันปิดใส่กลอนประตูหน้าต่าง ยามฟ้าแลบแสงจากฟ้ามองไปทางไหนเห็นแต่ต้นไม้ลู่เอน หลังจากนั้นไม่เกิน 20 นาทีเสียง ต้นไม้ล้มทับกันโครมครามๆ เป็นระลอกๆ ทางทิศโน้นทิศนี้รอบตัวบ้าน ผมคิดในใจว่าคืนนี้อย่างน้อยบ้านที่อยู่ท่ามกลางต้นไม้ใหญ่รายรอบคงไม่รอดแน่ พยายามบอกลูกชายให้ลงมาอยู่ที่ชั้นล่าง คิดเอาไว้เพียงว่าอย่างน้อยถ้ามีต้นไม้โค่นทับบ้าน เราก็ยังมีตัวบ้านกันเอาไว้ได้บ้าง
     
        ชะโงกดูบ้านเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ๆ กัน 4 หลังคา เสียงโหวกเหวกจอแจด้วยน้ำเสียงตกใจ เด็กเล็กร่ำไห้กระจองอแง ผมหยิบโทรศัพท์เพื่อหาทางติดต่อเพื่อนฝูง ทุกอย่างเงียบกริบเป็นที่แน่นอนว่าระบบโทรศัพท์เสียงหายขาดการติดต่อโดยสิ้นเชิง ผมคว้าวิทยุสมัครเล่นเปิดสวิตช์ดู โชคดีมีเสียงพูดคุยโต้ตอบกันโหวกเหวกๆ
     
        “ฉิบหายหมดแล้วๆๆๆๆ”
     
        “ใจเย็นๆ พวกเราใจเย็นๆ มีอะไรรีบบอกกันมา ใครอยู่ใกล้ๆ ก็ออกมาช่วยๆ กันนะครับ”
     
        “เสาไฟฟ้าแรงสูงห้าแยกเกาะยอล้มหมดแล้วครับ”
     
        “บ้านพังๆ มีคนติดอยู่ในบ้านหลายคน เชิงเขาสิงหนครครับ”
     
        “น้ำเข้าสะเดา คลองหอยโข่งแล้วๆๆๆ”
     
        “พี่น้องหาดใหญ่เตรียมตัวครับเตรียมตัว น้ำไปแล้วครับ”
     
        “…ฯลฯ….”
     
        เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ทำให้ผมรู้ว่า พายุได้พัดกระหน่ำเข้าสู่จังหวัดสงขลาของเรา กินอาณาบริเวณกว้างตั้งแต่อำเภอระโนด สทิงพระ และสิงหนครกระจายมุ่งสู่พื้นที่รอบทะเลสาบสงขลาตอนใน มุ่งเข้าสู่จังหวัดพัทลุงตรงอำเภอปากพะยูน ส่วนที่พัดผ่านอำเภอเมืองสงขลาแล้วมุ่งไปทางทิศตะวันตกเพราะมันพัดผ่านไปทางอำเภอนาหม่อม สะเดาแล้วมุ่งเข้าประเทศมาเลเซีย ข้อมูลจากเพื่อนสมาชิกวิทยุสมัครเล่น คือ แหล่งข้อมูลเดียว ช่องทางเดียวเท่านั้นที่ทำให้ผู้ที่ตกอยู่ในภาวะอย่างผมได้รับรู้ข่าวสารจากภายนอก
     
        2 ชั่วโมงผ่านไปอย่างทรมานใจสุดๆ แล้วสายฝนก็เริ่มหยุด ผมเห็นแสงไฟจากไฟฉาย 3-4 ดวงแวบๆ สาดส่องผ่านมาหน้าบ้าน ผมออกไปยืนรอพวกเขาที่ถนนหน้าบ้านซึ่งต้องปีนข้ามต้นสะเดาใหญ่ที่ล้มเฉียดหลังคาบ้านไปเพียงไม่กี่เมตร ผู้ใหญ่บ้านและลูกบ้านนั่นเอง พวกเขาบอกว่าหมู่บ้านของเรายับเยินหมดแล้ว ต้นไม้ล้มทับบ้าน ทับถนน ที่แน่ๆ แล้วบ้าน 3 หลังที่เขาผ่านกันมาโดนต้นไม้ล้มทับเต็มๆ พังหมดทั้งหลังแต่โชคดีไม่มีคนเสียชีวิต
     
        ต้นสะตอใหญ่ล้มพาดสายไฟฟ้าขาดสะบั้น ผมมองไปตามแสงไฟบนถนนในหมู่บ้าน จากที่เคยเป็นถนน คืนนี้เต็มไปด้วยต้นไม้ที่หักโค่นซ้อนทับกันไปมาระเกะระกะเต็มไปหมด ต้นกันเกรา สะเดาอายุกว่า 100 ปี ไม่รวมถึงมะพร้าว ยางพาราในสวนหลังบ้าน หักโค่นยับเยิน
     
        7 วันผ่านมาแล้ว หมู่บ้านของเรายังไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปาใช้ในหมู่บ้าน และในตำบลรวมถึงตำบลใกล้เคียง เพราะการเร่งกอบกู้ทั้งไฟฟ้าและประปาทางหน่วยงานรัฐเน้นเริ่มต้นจากในตัวเมืองเป็นอันดับแรกๆ การหันมาพึ่งบ่อน้ำของบางบ้านที่ยังเก็บบ่อน้ำไว้คือทางออกเรื่องน้ำของหมู่บ้านของเรา พวกชายฉกรรจ์และหนุ่มสาวระดมกันใช้แรงงาน ตัด ชักลากต้นไม้ที่ล้มทับบ้านเรือนและถนนหนทาง ช่วยกันซ่อมบ้านเพื่อนบ้าน ฯลฯ กลุ่มแม่บ้านก็มารวมกันหุงหาอาหารเตรียมไว้ให้ที่ห้องสมุดศูนย์รวมของหมู่บ้าน 3 วันเต็มๆ กับภารกิจของส่วนรวมจึงสำเร็จลง
     
        หลังจากข่าวสารแพร่ออกไปทางสื่อกระแสหลักรอบทิศทาง การระดมความช่วยเหลือคือพายุลูกถัดมาที่โหมกระหน่ำเมืองใหญ่ๆ อย่างหาดใหญ่และใกล้เคียง มีเรื่องราวสับสนวุ่นวายเสมือนเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศนี้……. แต่หมู่บ้านเล็กๆ ของเราใช้พลังในหมู่บ้านล้วนๆ ในการกอบกู้หมู่บ้านตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 1 ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ผมยังไม่พบใครบ่นหรือเรียกร้องหาความช่วยเหลือจากภายนอกแม้คนเดียว มองจากมุมของคนที่อาศัยอยู่ในชุมชน ผมคิดไปถึงว่าหน้าที่ของรัฐจริงๆ แล้วทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหนในภาวะวิกฤตเช่นนี้….. 



http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9530000157716



No comments:

Post a Comment