2010-11-07

N.2010.11.06 - น้ำท่วมไทย 2553


ระบบอุปถัมภ์ในปรากฏการณ์น้ำท่วมไทย 2553


ไม่กี่วันที่ผ่านมา มีคนนำคลิปรายการโทรทัศน์ช่อง ในหัวข้อที่ชื่อทำนองว่า “หาดใหญ่น้ำไม่ท่วม” (ขออภัยที่ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน เนื่องจากปัจจุบันไม่สามารถค้นหาคลิปดังกล่าวได้แล้ว!) ซึ่งเป็นรายการที่ไปถ่ายทำการทำงานของกรมชลประทานในส่วนที่เรียกกันว่า “โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ซึ่งแสดงให้เห็นการที่กรมชลประทานกล่าวยืนยันว่าน้ำจะไม่ท่วมหาดใหญ่อีก หลังจากที่เคยท่วมหนักมาแล้วในปี 2531 และปี 2543หลังจากที่มีโครงการดังกล่าวแล้ว (ซึ่งใช้งบประมาณไปจำนวน 2,726.4848 ล้านบาท [1])
แน่นอนว่า เป็นรายการที่ออกอากาศก่อนเกิดน้ำท่วมใหญ่...
ปรากฏการณ์น้ำท่วมไทยปีนี้ อาจเรียกได้ว่า ขึ้นจุดพีกที่สุดในช่วงเวลาที่น้ำมาถึงหาดใหญ่ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ทั้งที่ก่อนหน้านี้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมเป็นตัวเลขที่สูงมากจนแตะระดับ 100 ศพแล้ว [2] สังคมคนเมืองเริ่มตระหนกว่า ภัยดังกล่าวคืบคลานมาใกล้ตัวอย่างเห็นได้ชัดขึ้น ขณะที่ประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาลยังงุ่มง่าม จนคนแทบจะสับสนกับบทบาทของนักข่าวที่ทุ่มเทช่วยน้ำท่วมมากกว่าคณะรัฐมนตรี
ท่ามกลางปรากฏการณ์น้ำท่วมหลากนี้ ได้พัดและงัดเอาตะกอนใหญ่ใต้ตมและขี้เลนในนามของระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยให้ออกมาปฏิบัติการอย่างอีหลักอีเหลื่อในที่สุด และเป็นอีกครั้งที่สถานการณ์ได้สร้าง “วีรบุรุษ” ในสังคมที่รอคอยและวาดหวังที่จะมีคนดีๆ เข้ามาแก้ไขปัญหาให้
น้ำท่วมจากเหนือ อีสาน ลงสู่ภาคกลาง และภาคใต้
คลังข้อมูลสภาพน้ำ ได้ระบุ “บันทึกเหตุการณ์น้ำท่วม” [3] ซึ่งสามารถย้อนหลังไปได้ถึงปี 2545 ได้ให้ประโยชน์อย่างมากในการทำความเข้าใจสภาพรวมของสถานการณ์น้ำท่วม สถิติระบุว่าปีนี้น้ำเริ่มท่วมที่จังหวัดน่านเมื่อ 17-18 กรกฎาคม เนื่องมาจากพายุโซนร้อน “โกนเซิน” (CONSON) มีผลให้ฝนตกหนัก (สูงสุดในวันที่ 18 กรกฎาคม ที่ 109.5 มิลลิเมตร) ซึ่งท่วมทั้งในเขตตัวเมืองและต่างอำเภอ มีรายงานข่าวว่า หนองคายก็น้ำท่วมด้วย [4]
ในเดือนต่อมา เป็นคราวของ พายุโซนร้อน “มินดอลเล” (Mindulle) ฝนตกหนักตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม ที่สุโขทัย ที่124.8 มิลลิเมตร (สูงสุดวันที่ 29 สิงหาคมที่มุกดาหาร 141.1 มิลลิเมตร) เขตพายุทำให้เหนือและอีสานประสบภาวะน้ำท่วม อย่างไรก็ตามพบว่าฝนตกหนักจนทำให้เกิดน้ำท่วมมาก่อนแล้ว ในช่วง 3-9 สิงหาคม จังหวัดที่ประสบภัยได้แก่ แพร่ อุตรดิตถ์ ลำปาง น่าน เชียงราย วันที่ 21-23 เป็นพื้นที่ของ แพร่ ลำปาง (ว่ากันว่าน้ำท่วมในเขตที่คลองส่งน้ำจากเขื่อนกิ่วคอหมาที่พึ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ) เชียงราย ลำพูน และในช่วง "มินดอลเล" ตั้งแต่ 24 สิงหาคมถึงสิ้นเดือน ภาคเหนือ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน  ภาคกลาง ได้แก่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ นครนายก สระบุรี อีสานได้แก่ มุกดาหาร  สกลนคร ชัยภูมิ ยโสธร อำนาจเจริญ กาฬสินธุ์ [5]  ความเสียหายดังกล่าวยังไม่ถูกยกเป็น “กระแสหลัก” ในสังคมไทย ในฐานะ “อุบัติภัยแห่งชาติ”  แม้ชาวนาหลายรายจะนาล่ม และวายป่วงไปแล้วก็ตาม [6]
สถานการณ์น้ำท่วมกระจายไปทั่วในจังหวัดต่างๆ อย่างไม่เป็นข่าว แต่ความรับรู้ของคนทั่วไปยังถือว่า ห่างไกลความเดือดร้อนของตน จนมาถึงคิวของโคราช ซึ่งปรากฏข่าวน้ำท่วม ที่เริ่มท่วมปากช่องในวันที่ 15 ตุลาคม [7] และกลายเป็นน้ำท่วมใหญ่ในวันที่ 16-20 จนกล่าวกันว่าเป็น “น้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์” [8] เป็นครั้งแรก จัดว่าเป็นน้ำท่วมตัวเมืองที่ “เป็นข่าว” จนทำให้สื่อมวลชนเริ่มสนใจ และยกระดับเป็น “อุบัติภัยแห่งชาติ” ขึ้น ทั้งที่ต้นเดือนกันยายนก็มีข่าวน้ำท่วมโคราช ขอนแก่น ชัยภูมิ แต่สื่อเห็นว่าไม่หนักหนาสาหัส [9]
 
"แผนที่จังหวัดที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติ 2553"
ภาพจาก http://thaiflood.com/# (6 พฤศจิกายน 2553)
น้ำเอย...น้ำใจ ที่ศูนย์กลางอยู่ในมือ “สื่อมวลชน”
สถานีโทรทัศน์ช่อง ในนามของ “ครอบครัวข่าว 3” ได้เปิดรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือประสบภัยน้ำท่วม ในกรณีน้ำท่วมนครราชสีมา ปราจีนบุรี และลพบุรี ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม เป็นอย่างช้า [10] การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปอย่างแข็งขันและรวดเร็ว เมื่อเปรียบเทียบกับความเฉื่อยของผู้มีอำนาจรัฐทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการรับบริจาคสิ่งของ ตัวเงิน การผนึกกำลังร่วมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อส่งรายได้จากการส่ง SMS เข้ารายการ จนได้รับความชื่นชมอย่างมาก
การระดมความร่วมมือกันอย่าง “เอาเป็นเอาตาย” นี้ ผู้เขียนเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ที่น่าสังเกตคือว่า สื่อมวลชนต่างดาหน้าและระดมไปที่การขอความช่วยเหลือ และส่งความช่วยเหลือ ซึ่งบดบังบทบาทของสื่อมวลชนที่ควรจะเป็นสื่อกลางในการสื่อสารแง่มุมต่างๆของน้ำท่วม อย่างไรก็ตามในประเด็นนี้มิได้มุ่งดิสเครดิตว่า สื่อทุกแขนงไม่ได้ให้ความสนใจกับปรากฏการณ์อื่นๆของน้ำท่วม แต่ในแง่น้ำหนักความสำคัญแล้ว เทียบไม่ได้เลยว่า บทบาทของสื่อนั้น เป็น “ผู้อุปถัมภ์” ผู้ใจบุญ เปี่ยมน้ำใจ เป็นที่พึ่งพา มีความเข้าใจต่อผู้ประสบเคราะห์ภัย ผู้ที่จะถูกอุปถัมภ์ สิ่งที่สะท้อนได้อย่างชัดเจนก็คือ การที่รายการข่าวช่อง ระดมเปิดเพลง “น้ำเอย น้ำใจ” ผลงานร่วมของ อัสนี โชติกุล และยืนยง โอภากุล (แอ๊ด คาราบาว)
การตลาดของน้ำท่วมครั้งนี้ นับว่าช่อง 3 ที่มีภาพตัวแทนสำคัญคือ สรยุทธ์ สุทัศนะจินดา “ได้ใจ” ชาวบ้านร้านตลาดไปเต็มๆ การทำข่าวที่ถึงลูกถึงคน ถึงเนื้อถึงตัว ตั้งแต่การสัมภาษณ์สด ลงพื้นที่น้ำท่วมในที่ต่างๆ เช่น โคราช หรือเดินทางอย่างฉับพลันไปถึงน้ำท่วมหาดใหญ่ ได้สร้างความพึงพอใจของมหาชนแก่ตัวเขาและทีมงานเป็นอย่างสูง จนติดลมไปถึงขนาดที่ว่า มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 5-11 พฤศจิกายน 2553นำไปลงหน้าปก โดยรายละเอียดของภาพคือ การตัดต่อภาพสรยุทธ์ ไว้บนเรือนร่างของซูเปอร์แมน และมีคำโปรยว่า “พระเอกตัวจริง”
เราจะพบว่า หลังการล้อมปราบอย่างเหี้ยมโหดของรัฐบาลในเดือนพฤษภาคม 2553 ชนชั้นกลาง มีความอึดอัดและหาทางออกเพื่อ “จุดยืนทางศีลธรรม” ของตน อย่างขมีขมัน ด้วยการออกมาร่วมมือร่วมใจกันผ่านแคมเปญต่างๆ ตั้งแต่Together We Can, Big Cleaning Day ฯลฯ นี่คือ การเยียวยาตัวเองด้วยการแสดงความเป็น “ผู้อุปถัมภ์” ต่อผู้ที่ด้อยกว่า ต่ำกว่า และเดือดร้อนกว่าตน
น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ในด้านหนึ่งแล้วถือว่า เป็นช่องทางที่ผู้คนเหล่านั้นสบโอกาส ผสานกับการตลาดที่โชว์ความเป็นองค์กร “ใจบุญ” ภายใต้นโยบาย CSR  ขณะที่รัฐบาลก็ส่งสัญญาณให้ผู้ใจบุญทั้งหลายที่เป็น “นกรู้” สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 10% [11] นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่เราเห็นองค์กรธุรกิจจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามา “ยกป้าย” “ออกสื่อ” “ถ่ายรูปคู่กับสรยุทธ์” ฯลฯ
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5-11 พฤศจิกายน 2553 หน้าปก สรยุทธ์ "พระเอกตัวจริง"
ในพระบรมราชูปถัมภ์
ภายใต้ “ความเงียบ” ของรัฐบาล เรายังพบการรายงานข่าวช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสถาบันพระมหากษัตริย์
ด้วยนั่นคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 10 ล้านบาท ให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในวันที่ 18 ตุลาคม 2553 ต่อมาอีก 10 ล้านบาท ผ่านองค์กรเดียวกัน เพื่อนำไปซื้อเครื่องอุปโภคบริโภค เข้าใจว่าเพื่อจัดส่งในนาม “ถุงยังชีพพระราชทาน” รวมเป็นมูลค่า 19,523,887.74 บาท นอกจากนั้นยังพบว่า พระองค์พระราชทานเงิน ล้านบาท ผ่าน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4  (กอ.รมน.ภาค 4) เพื่อนำไปจัดทำ “ถุงยังชีพพระราชทาน” แจกจ่ายชาวใต้เช่นกัน [12]
ต่อมามีรายงานข่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงร่วมกันพระราชทานเงินให้กองทัพเรือเพื่อดำเนินการจัดซื้อน้ำดื่มและของใช้ที่จำเป็นสำหรับช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยในจังหวัดต่าง ๆ จำนวน 3 ล้านบาท ในวันที่ 2 พฤศจิกายน และ 3 พฤศจิกายน 2553 ได้ทรงพระราชทานเงินเพิ่มอีก 3 ล้านบาท สำหรับช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ภาคใต้ ในขณะที่กองทัพอากาศเองก็เปิดเผยว่า ทั้งสองพระองค์พระราชทานเงินอีก 2 ล้านบาทผ่านกองทัพอากาศ  ใช้เครื่องบิน 130 เป็นหลักในการขนสิ่งของ [13] นอกจากนั้นยังมีรายงานข่าวอื่นๆอีกที่เป็นพระกรณียกิจในพระบรมวงศานุวงศ์ เช่น “พระบรมฯ โปรดเกล้าฯถุงยังชีพชาวปักธงชัย” [14]  “"ชาวโคราชปลาบปลื้ม สมเด็จพระเทพฯ” เสด็จฯเยี่ยมช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม - ธารน้ำใจ พธม.” ถึงเมืองย่าโม"” [15] “ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ พระราชทานสิ่งของช่วยน้ำท่วม” [16] "พระองค์โสม"ประทานรถโรงครัวพระราชทาน ทำอาหารช่วยน้ำท่วม" [17] "ทูลกระหม่อมฯทรงรับคุณยายน้ำใจงาม เอาเงินช่วยคนน้ำท่วมแต่ตัวเองถูกระเบิดขาขาด" [18] ฯลฯ
พลวัตของสถานการณ์น้ำท่วมระดับความรุนแรงที่ยังห่างตัว
พี่น้องที่ประสบภัยเป็นคนบ้านๆ ชาวนาชาวไร่ ได้รับการชดเชยระดับไร่ละ 606 บาท และเพิ่มเป็นสองพันกว่าบาทในระยะต่อมาเมื่อถูกค่อนขอดว่าเป็นเพียงเศษเงิน การสูญเสียเรือกสวนไร่นา บ้างก็สูญเสียชีวิต แน่นอนทรัพย์สินอันประเมินค่าไม่ได้ หากลองเข้าไปนั่งในใจของผู้ประสบภัยที่ไม่มีอะไรเหลือติดตัว สิ่งที่สื่อไทยพยายามอย่างถึงที่สุดแล้วก็คือ การลุกขึ้นมาเป็นตัวกลางเพื่อประสานงานเสียเอง ในเมื่อภาครัฐเชื่องช้า อุ้ยอ้าย และลอยหน้าลอยตาไปวันๆ โดยปราศจากความริเริ่มในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า และภาพรวมอย่างเป็นระบบ
อย่างไรก็ตาม สื่อไทยก็หนีไม่พ้นการใช้ใจของผู้ให้ที่ประเสริฐ ให้อุปถัมภ์ผู้ทุกข์ยากดังที่กล่าวไปแล้ว ในระยะแรกของน้ำท่วม ข่าวยังเป็นข่าวเล็กๆ เสมือนว่า น้ำท่วมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามปกติอยู่แล้ว สื่อมวลชนยังรักษาระยะห่าง ต่อมาเสียงเพลง “น้ำเอย น้ำใจ” เริ่มกระหึ่มดังขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเสียงและภาพของความทุกข์ยากของประชาชนปรากฏมากขึ้น ดังที่กล่าวมาแล้ว “เสือปืนไว” อย่างช่อง เริ่มระดมทุนและใช้ทรัพยากรที่มีเริ่มปฏิบัติการเยียวยาผู้เสียหาย ตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม ก่อนที่น้ำจะท่วมโคราชครั้งประวัติศาสตร์เสียอีก
การจัดการน้ำอย่างไร้ประสิทธิภาพในกรณีโคราช ทำให้เกิดการตั้งคำถามจากฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลอย่างชุมชนออนไลน์ที่สมาทานฝ่ายเสื้อแดงว่า ฤาจะเป็นความตั้งใจของรัฐที่จะทำให้เกิดน้ำท่วมเพื่อสลายกำลังทางการเมืองขณะเดียวกันก็กระชับพื้นที่หัวใจให้ทหารได้ช่วยเหลือและเป็น “ผู้อุปถัมภ์” ชาวบ้านให้ซาบซึ้งกับน้ำใจของทหาร [19] แต่เป็นเสียงเงียบๆที่ดังอยู่ในสังคมไซเบอร์เท่านั้น อย่างไรก็ตามที่น่าสังเกตก็คือ กรณี ระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวยกยอ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่า 
ผมไม่คิดว่านายกฯ จะทำตามสัญญาได้เร็วขนาดนี้ เพราะนายกฯ ไม่ได้ดูแลแค่พื้นที่โคราชและแก้แค่ปัญหาน้ำท่วม เพราะแค่วันหนึ่งรับแขกก็จะตายอยู่แล้ว ไหนจะไปทั้งเมืองนอกอีก และนายกฯอยู่พรรคประชาธิปัตย์ ที่ส.ส.โคราชทั้ง 16 เขตไม่มีของปชป.เลย แต่นายกฯก็ช่วยเหมือนภาคใต้ที่เลือกปชป. โดยไม่หวังคะแนนเลือกตั้ง จึงเปรียบเหมือนรัฐบุรุษ [20]
มุขดังกล่าวไม่ทราบว่าได้ผลเพียงใด แต่สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมการเมืองแห่งความอุปถัมภ์ที่ไม่ได้มองว่า การช่วยเหลือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ใครหน้าไหนอยู่จุดนี้ก็ต้องทำ กะอีแค่ทำได้ปริ่มๆ มาตรฐานยังเลิศลอยถึงกับเป็นรัฐบุรุษ (อย่างไรก็ตาม ไม่นับว่าเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายนักกับ double speak เกี่ยวกับอภิสิทธิ์ ที่ผ่านมา อภิสิทธิ์ ก็กลายเป็นอุปมาของความดีอะไรไปหลายอย่าง เช่น อภิสิทธัตถะ )
โลกร้อนและภัยคุกคามเข้ามาใกล้ตัวคนเมือง
แต่ความวัวไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก เกิดเหตุมหาอุทกภัยที่หาดใหญ่ หลังจากที่มีการแจ้งเตือนถึงปริมาณน้ำฝนที่ตกมากถึง 357.9 มิลลิเมตร [21] ในวันที่ 1-2 พฤศจิกายน ส่งผลให้น้ำท่วมเมืองหาดใหญ่ครั้งใหญ่หลังจากที่ทิ้งช่วงไปถึง 10 ปี หาดใหญ่ที่เป็นย่านของ “คนเมือง” และเป็น “เขตเศรษฐกิจ” เกิดน้ำท่วมเป็นระดับน้ำที่สูงมากและเป็นวงกว้างแทบจะทั้งเมือง เราจะสัมผัสได้ตามสื่อว่ามีโทนเสียงที่น่าเป็นห่วงมากและ “วิกฤต” เป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่าการตื่นตัวดังกล่าวของคนเมืองอาจจะมาจากการรับรู้ถึงการผลิตซ้ำของวาทกรรมโลกร้อนที่เป็นกระแสมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระแสดังกล่าว ได้สร้างภาพจำลองถึงความชิบหายของคนเมืองอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ ที่ไม่อาจควบคุม เป็นภัยธรรมชาติที่ตามมาลงโทษมนุษย์ผู้ย่ำยีบีฑาธรรมชาติ และที่สำคัญน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ “โจมตีเมือง” ที่เป็นเมืองของชนชั้นกลางอันเป็นย่านธุรกิจ สำนักงานและที่พักอาศัยแบบที่พวกเขาคุ้นเคย ซึ่งไม่ใช่หายนะของทุ่งนา ไร่ผลผลิต เรือกสวน
ความเสียหายประเภทหลังแม้พวกเขาจะสงสาร และอาจช่วยบริจาค แต่ก็ไม่ได้ “อิน” อย่างเทียมเท่า ข่าวน้ำท่วมจากหาดใหญ่ยังได้รับการกระพืออย่างต่อเนื่อง เมื่อมี “เซเลบ” เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น “นาที แอ๊ด คาราบาว หนีตายน้ำท่วมจากหาดใหญ่” หลังจากที่ติดอยู่ในโรงแรมตัวหาดใหญ่ในวันที่ พฤศจิกายน [22] หรือความสูญเสียของบุคลากรรัฐ ที่ปลัดอำเภอจะนะ เสียชีวิตจากการช่วยเหลือน้ำท่วม” [23] พ่อของดีเจซี้ด นรเศรษฐ หมัดคง ช็อคและติดอยู่ในบ้าน [24] การลุกขึ้นมาร่วมด้วยช่วยกันอย่าง รายการ “เช้ามาดูวู้ดดี้” ที่อยู่มาเช้าวันหนึ่งเกิดปรับเปลี่ยนท่าทีจากรายการ ที่เน้นความสนุกสนานหยอกเย้า มาเป็นรายการที่เคร่งขรึมจริงจังและแสดงความตั้งใจที่จะช่วยเหลือผู้คนโดยเฉพาะในกรณีน้ำท่วมหาดใหญ่
รัฐบาลกับระบบที่หายไป
อันที่จริงแล้วนี่นับโอกาสอันเหมาะเหม็งของรัฐบาลที่จะโกยคะแนนความนิยมต่อประชาชน แต่ไม่รู้ทำอีท่าไหน คะแนน ความชื่นชมและความเห็นใจนั้นกลับเทไปให้กับสื่อมวลชนและองค์กรอื่นๆ แทน กว่าที่รัฐจะดำเนินการเป็นจริงเป็นจังก็ลุมาถึงวันที่ 24 ตุลาคม นายกรัฐมนตรีออกคำสั่งแต่งตั้งให้ อภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็น ประธานศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย [25] ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วก็ไม่ได้มีอำนาจและผลงานออกมาจริงจังนัก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับภาพการทำงานเป็น "วัวงาน" ของสื่อมวลชน โดยเฉพาะเมื่อถึงกับมีการยกภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเปรียบเทียบกันระหว่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ สรยุทธ์ สุทัศนะจินดา ใน " "คุณชาย"จวก!"ห่วยแตก"คนคิดให้ ตจว.รับน้ำแทน กทม. "มาร์ค" เมินยก "สรยุทธ์" เทียบ ยันทำงานเต็มที่ " [26]
แต่การดำเนินการอย่างเป็นยุทธศาสตร์และเป็นเงาทะมึนอยู่เบื้องหลังรัฐบาลนั้น ก็คือ กองทัพและเครือข่าย เมื่อมีแหล่งข่าวแจ้งว่า มีคำสั่งลับให้ทุกหน่วยโดยเฉพาะในภาคอีสานและภาคเหนือ เร่งงานมวลชนและปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร หรือไอโอ (Information Operation) เพื่อแก้ไขทัศนคติเชิงลบที่ประชาชนมีต่อทหารและรัฐบาลจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมช่วงเดือน เม.ย.ถึง พ.ค.ที่ผ่านมา [27] จึงไม่ทราบว่า ที่รัฐบาลเป็นง่อย เช่นนี้เนื่องว่า ตัวเองไม่มีน้ำยา หรือว่า ไม่มีที่ยืนของตัวเองในการแก้ไขปัญหากันแน่
ความขัดแย้งกันภายในระบบอุปถัมภ์
นอกจากนั้นยังมีข่าวไม่สู้เป็นผลดีต่อรัฐบาลก็คือ ปฏิกิริยาจากการถอนความช่วยเหลือออก นั่นก็คือ  การที่สรยุทธ์ได้ออกตัวในการยุติช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยกล่าวว่าจะให้ฝ่ายอื่นๆไปช่วยเหลือบ้าง ซึ่งแน่นอนว่า การชี้แจงเช่นนั้น ทำให้ส่งผลไปถึงความรู้สึกของคนที่ชื่นชมการทำงานของช่อง 3 ในเชิงเปรียบเทียบกับภาครัฐ ขณะที่องค์กรดังที่ปรากฏตามเว็บไซต์ต่างๆ เช่น “ช่อง 3 ถูกเบรค!! สรยุทธ์แจ้งผ่านรายการเรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์นี้..." [28]
ในอีกด้านหนึ่งก็มีเสียงที่พยายามกล่าวหาสื่อมวลชนในกรณีช่วยเหลือผู้ประสบภัยเช่นกัน เช่น การใช้สัญลักษณ์สำนักข่าว หรือสถานีของตนปิดบังบริษัทผู้บริจาค หรือยี่ห้ออื่นๆ  หรือการที่สื่อให้ความสำคัญกับ "ภาพ" การให้ความช่วยเหลือกับคนในฐานะปัจเจกมากกว่า การช่วยเหลือชุมชน หรือภาพที่ออกสื่อบางมุม ทำให้กลายเป็นว่า พื้นที่ดังกล่าวได้รับความช่วยเหลือแล้ว ซึ่งกลายเป็นการตัดโอกาสที่ผู้ประสบภัยคนอื่นจะได้รับความช่วยเหลือ ฯลฯ [29]
อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า ใครสั่งเบรก มีเหตุผลใด จริงเท็จแค่ไหน แต่ความขัดแย้งดังกล่าวผู้เขียนเห็นว่า เป็นปัญหามาจากระบบอุปถัมภ์ที่มีอุปสรรค ก็คือ การยึดติดการทำงานอยู่ที่ตัวบุคคล และวางอยู่บนฐานความชอบธรรมอันง่อนแง่นของสิ่งที่เรียกว่า คนดีและศีลธรรม ทำให้ละเลยระบบ โครงสร้างการทำงาน ทั้งที่การจัดการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมนั้น ถือเป็นการจัดการระดับเมืองและภูมิภาคที่ต้องอาศัยระบบและโครงสร้างที่แข็งแกร่ง โดยผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและรวดเร็ว ส่วนการช่วยเหลือกันยามยาก งานการกุศลนั้นก็ไม่ได้ปฏิเสธ แต่โปรดอย่าลืมสร้างสิ่งที่จะอำนวยความสะดวก สร้างพื้นที่กลางและจุดเชื่อมต่อให้มนุษย์ใช้ศักยภาพของตนเองขึ้นมาทั้งในระดับปัจเจกและการทำงานร่วมกันด้วย ไม่พักที่จะต้องกล่าวถึงปัญหาน้ำท่วมกับการบริหารประเทศ
ขอทิ้งท้ายด้วย ผลการสำรวจจาก เอแบคโพลล์ [30] ในหัวข้อ “ประชาชนคิดอย่างไรต่อสาเหตุปัญหาน้ำท่วมและคณะบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาของประเทศ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วไปในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล” พบว่า จากการให้คะแนนเต็ม 10 กับหน่วยงานต่างๆในฐานะน้ำท่วม หน่วยงานที่ได้คะแนนสูงสุดอันดับต้นๆ คือ หน่วยกู้ภัย 7.52 กองทัพ 7.28 (เป็นไปตามความคาดหมาย) และกระทรวงสาธารณสุข 7.07  นักร้องนักแสดงได้ถึง 6.66ตามมาติดๆ คือ บริษัทเอกชน และกลุ่มนายทุน 6.56 ขณะที่รัฐบาลและฝ่ายค้านรูดไปอยู่ที่ 5.5 และ 4.54 คะแนนตามลำดับ  
“ทำดีแต่อย่าให้เด่นจะเป็นภัย” ยังคงเป็นคำเตือนที่มีค่าเสมอ ตราบใดที่เรายังอยู่ในสังคมอุปถัมภ์ที่หน้าไหว้หลังหลอก ในสังคมที่ปากต้องการ “คนดี” และ สังคมที่มี “คุณธรรรม” แต่กลับพยายามทุกวิถีทางในการผดุงไว้ซึ่งโครงสร้างที่
อยุติธรรม ไร้ประสิทธิภาพ และก้าวถอยหลัง.
เชิงอรรถ
หมายเหตุ: บทความนี้ ขออุทิศแด่ ผู้เสียชีวิตและผู้สูญเสียจากภัยน้ำท่วม

No comments:

Post a Comment