2014-02-17

กกต.ฟิลิปปินส์ทำประเทศพัง โดย นิติภูมิ นวรัตน์



กกต.ฟิลิปปินส์ทำประเทศพัง (ตอน 1)

โดย คุณนิติ นวรัตน์

ผมมีความรู้สึกว่า ประเทศไทยของเรากำลังจะเข้ายุคเสื่อมถอย ขอเรียนนะครับ ว่ายุคเสื่อมถอยที่เกิดขึ้นกับประเทศใดประเทศหนึ่งไม่ได้กินเวลาแค่สี่ซ้าห้าปี แต่ส่วนใหญ่จะยาวนานถึง 15-20 ปี ประเทศก็เหมือนคนนะครับ บางห้วงก็เจริญรุ่งเรือง บางช่วงก็ตกอับ ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งผมรู้จักเคยรุ่งเรืองเมื่อ 20 ปีที่แล้ว พอถึงปัจจุบันทุกวันนี้ ชีวิตของท่านแย่ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ ความตกต่ำส่วนใหญ่มาจากความไม่ระมัดระวังในการดำเนินชีวิต และความทะเลาะเบาะแว้งที่เกิดขึ้นอย่างยาวนานในครอบครัวของผู้ใหญ่ท่านที่ว่า

พ่อเคยชี้ให้ดูบ้านของท่านผู้ใหญ่หลังหนึ่งซึ่งสำเร็จการศึกษาทางวิทยาศาสตร์บัณฑิตจากสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ พร้อมทั้งเล่าให้ผมฟังว่า สมัยก่อนตอน 40-50 ปีที่แล้ว ฟิลิปปินส์เป็นสาธารณรัฐรุ่งเรืองมาก พ.ศ.2503 รายได้ต่อหัวของคนฟิลิปปินส์สูงถึง 696 เหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่รายได้ต่อหัวของคนไทยใน พ.ศ.2503 มีเพียง 359 เหรียญ คนฟิลิปปินส์มีรายได้สูงกว่าคนไทยถึง 2 เท่า ไม่ใช่เฉพาะสูงกว่าคนไทยเท่านั้นนะครับ สูงกว่าคนเกาหลีใต้และคนจีนเสียด้วยซ้ำ ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สถาบันการศึกษาของฟิลิปปินส์ทุกระดับได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ใครสำเร็จการศึกษาจากฟิลิปปินส์ได้รับการยอมรับนับถือว่ามีความรู้ดี

เวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไป 20 ปีให้หลัง ใครจะนึกเล่าครับ ว่า พ.ศ.2523 รายได้ต่อหัวของคนฟิลิปปินส์จะร่วงต่ำกว่าของคนเกาหลีได้ (แต่ก็ยังสูงกว่าคนไทยและจีน) สังคมของฟิลิปปินส์หลังจาก พ.ศ.2523 มีแต่การทะเลาะเบาะแว้ง นายเบนิคโน อากีโน วุฒิสมาชิกที่ได้รับสมญานามว่าหนุ่มมหัศจรรย์แห่งการเมืองฟิลิปปินส์ถูกไล่ออกนอกประเทศ บั้นปลายท้ายที่สุดก็ถูกทหารยิงเสียชีวิตเมื่อ 22 สิงหาคม พ.ศ.2526 จากนั้นมาสังคมฟิลิปปินส์ก็มีแต่เรื่องทะเลาะเบาะแว้ง ต่อสู้กัน มีแต่การเดินขบวนทุกเมื่อเชื่อวัน

ภาพลักษณ์ของประเทศฟิลิปปินส์ที่เคยโดดเด่นเป็นสง่าร่วงไม่เป็นท่า ใครจะเล่นการเมืองก็ต้องแอบตั้งกลุ่มสนับสนุนเช่น กลุ่มยุติธรรมเพื่ออากีโนที่เรียกร้องให้นางเกลาซอน อากีโน ลงสมัครประธานาธิบดี การเลือกตั้งในฟิลิปปินส์เลื่อนแล้วเลื่อนอีก

กลุ่มที่สร้างเรื่องยุ่งยากในการเมืองฟิลิปปินส์มากที่สุดกลุ่มหนึ่งก็คือ ‘คณะกรรมการเลือกตั้ง’ ที่มีแต่ความไม่น่าเชื่อถือ เพราะกรรมการเอนไปเอียงมา แทนที่จะมีมาตรฐานมั่นคง กรรมการเลือกตั้งฟิลิปปินส์ในยุคนั้นกลับได้พวกเสาหลักปักขี้เลน ประชาชนคนฟิลิปปินส์ใน พ.ศ.2529 ไม่เชื่อถือคณะกรรมการเลือกตั้ง และทำให้เหตุการณ์สับสนวุ่นวายขนาดประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการเลือกตั้งมากกว่าหนึ่งชุด ก็ยังไม่มีข้อยุติ รัฐบาลจึงประกาศแต่งตั้ง Commission on Election หรือคณะกรรมาธิการเลือกตั้ง ผู้อ่านท่านคงจะเคยคุ้นชื่อ ‘คอมเลก’ นะครับ แต่กรรมการบางคนในคอมเลกมีพฤติกรรมโอนเอียงชัดเจน ประชาชนคนเกือบครึ่งสาธารณรัฐจึงไม่เอาด้วย ผู้คนจึงต้องรวมตัวกันเป็นอาสาสมัครเลือกตั้ง มีทั้งนักธุรกิจ พ่อค้า ประชาชน ฯลฯ ตั้งเป็นคณะกรรมการเลือกตั้งเอกชน และเรียกตัวเองว่า ‘นัมเฟรล’ ซึ่งย่อมาจาก National Movement For Free Election

พอถึงวันเลือกตั้ง ไอ้นั่นก็ประท้วง ไอ้นี่ก็ประท้วง การเลือกตั้งเป็นไปอย่างทุลักทุเล ที่ทุลักทุเลกว่าก็คือ การนับคะแนนและรายงานผลเลือกตั้ง ซึ่งเป็นไปอย่างสับสนวุ่นวายที่สุดกุดถังสังฆังทำโม คณะกรรมาธิการเลือกตั้ง ‘คอมเลก’ ประกาศให้ผู้สมัครคนหนึ่งเป็นผู้ชนะ แต่คะแนนจากคณะกรรมการเลือกตั้งเอกชน ‘นัมเฟรล’ ให้ผู้สมัครอีกคนหนึ่งชนะ เจ้าหน้าที่ที่ป้อนข้อมูลในคอมพิวเตอร์ต้องหนีเหล่าเท้าของประชาชนคนที่ตามมารุมกระทืบ

พ.ศ.2543 รายได้ต่อหัวของคนไทยสูงกว่าฟิลิปปินส์ แต่คนฟิลิปปินส์ก็ยังมีรายได้ต่อหัวสูงกว่าคนจีน

พ.ศ.2555 คนจีนมีรายได้สูงกว่าคนไทยและฟิลิปปินส์

รายได้ต่อหัวของคนฟิลิปปินส์คือ 1,501 เหรียญ

ขณะที่คนไทยมีรายได้สูงถึง 3,351 เหรียญ

ความไม่เชื่อมั่นในระบบเลือกตั้ง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทุกวันนี้ ฟิลิปปินส์ต้องส่งออกคนใช้และเสมียนไปทำงานหาเงินทั่วโลก.




กกต.ฟิลิปปินส์ทำประเทศพัง (ตอน 2)

โดย คุณนิติ นวรัตน์

ฟิลิปปินส์เป็นตัวอย่างของประเทศที่เคยเจริญรุ่งเรือง แต่สถานการณ์การเมืองภายในประเทศวุ่นวาย เวลาหมุนเวียนเปลี่ยนไปไม่นาน จากสาธารณรัฐที่เคยรุ่งเรืองเฟื่องฟุ้ง ก็กลายเป็นประเทศที่ถูกประเทศอื่นแซงหน้าไปทีละประเทศสองประเทศ

จากประเทศที่มีงานเยอะแยะ ฟิลิปปินส์กลายเป็นประเทศที่ไม่ค่อยมีงานให้ประชาชนคนของตนเองทำ คนฟิลิปปินส์ถูกผลักไสให้ต้องออกไปทำงานในต่างประเทศ

ความเสื่อมถอยของฟิลิปปินส์มาจากหลายประการครับ หนึ่งในมากมายหลายประการนั้นก็คือ วิกฤตศรัทธาที่ประชาชนมีต่อระบอบประชาธิปไตย

ระบอบประชาธิปไตยในฟิลิปปินส์เคยแย่ขนาดกลายเป็นระบอบขยะ เพราะความเหลวเป๋วของคณะกรรมการเลือกตั้ง ซึ่งแทนที่จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลาง กลับเอียงกะเท่เร่ เมื่อไม่มีความเชื่อถือ ก็ต้องมีคณะกรรมการการเลือกตั้งอุบัติขึ้นมามากกว่าหนึ่งชุด เมื่อวานผมรับใช้ไปแล้วสองชุดหลัก ทั้งชุดที่เรียกว่า ‘คอมเลก’ และชุดที่เรียกว่า ‘นัมเฟล’

ขอฉายหนังตัวอย่างแค่การเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ พ.ศ.2529 วันลงคะแนนของการเลือกตั้งในครั้งนั้นก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ตอนแรกประกาศว่าจะเลือกตั้งกันในวันที่ 17 มกราคม สุดท้ายก็เปลี่ยนมาเลือกตั้งกันในวันที่ 7 กุมภาพันธ์

คณะกรรมการเลือกตั้งของฟิลิปปินส์ทำประเทศเละตุ้มเปะ แม้แต่ผลการเลือกตั้ง ก็ประกาศไม่ตรงกัน คณะกรรมาธิการเลือกตั้ง ‘คอมเลก’ ประกาศว่ามาร์กอสเป็นฝ่ายนำ ขณะที่คะแนนจากกรรมการเลือกตั้งเอกชน ‘นัมเฟล’ ที่เป็นการรวมตัวกันของนักธุรกิจ พ่อค้า ประชาชน และนักศึกษา กลับประกาศว่าโกราซอน อากีโน เป็นฝ่ายนำ

สภานิติบัญญัติแห่งชาติประกาศผลการเลือกตั้งให้มาร์กอสเป็นฝ่ายชนะ แต่ประชาชนฟิลิปปินส์ตอนนั้นไม่ฟังใครแล้ว เพราะคณะกรรมการเลือกตั้งบั่นทอนความเชื่อถือของสถาบันต่างๆ ซะจนเละไปหมดแล้ว ให้ประกาศจนคอพังก็ไม่มีใครเชื่อ คนแต่ฝ่ายต่างก็ก่อตัวมารวมกันเป็นพลังประชาชน กลุ่มใหญ่ที่สุดชื่อ People Power Revolution กลุ่มพลังประชาชนปฏิวัติ

ตอนนั้น รัฐสภาอเมริกันและรัฐสภายุโรปมีมติด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ประณามการเลือกตั้งในฟิลิปปินส์ หลายประเทศที่วิเคราะห์ว่า ฝ่ายมาร์กอสทำผิด ต่างก็เข้าไปพบนายโกราซอน อากีโน เช่นพวกทูต 14 ประเทศในฟิลิปปินส์ สภาคริสเตียนเพื่อประชาธิปไตยระหว่างประเทศส่งโทรเลขให้มาร์กอส ประธานาธิบดีเรแกนขอร้องให้มาร์กอสยอมแพ้ ฯลฯ ต่างคนต่างมีแรงหนุนจากทั้งในและต่างประเทศพอๆ กัน

25 กุมภาพันธ์ 2529 คือวันสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี เพราะคณะกรรมการเลือกตั้งมี 2 คณะ วันนั้น จึงมีพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดีของทั้ง 2 คน

ทว่า ในตอนเย็นของวันสาบานตน ก็มีพลังอันยิ่งใหญ่อุบัติ ทำให้มาร์กอสและครอบครัวต้องหนีออกนอกประเทศ ความขัดแย้งภายในประเทศ ทำให้ประชาชนแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย ฝ่ายที่ชนะมีพลังประชาชนมากกว่า สามารถทำให้สถานการณ์พลิกผันได้

เช่นเดียวกันกับพวกมาร์กอส ซึ่งเป็นตระกูลที่มีบารมีและอำนาจเป็นอันดับหนึ่งของประเทศมายาวนาน ไม่เคยนึกมาก่อนเลยครับ ว่าชีวิตของตนและครอบครัวจะมีวันที่ต้องทิ้งฟิลิปปินส์ไปชั่วนิรันดร์พันปี เรื่องนี้เอาไว้ผมค่อยกลับมารับใช้ท่านกันต่อ แต่เรื่องที่จะเขียนในวันนี้ ผมอยากรับใช้ท่านว่า การไม่ยอมกัน ทำให้ประเทศฟุบยาวหลายสิบปี

ประเทศที่มีแต่ความขัดแย้งกัน จะทำให้ไม่มีความชัดเจนในเรื่องอำนาจ เมื่อไม่มีความชัดเจนในเรื่องอำนาจ ข้าราชการซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการทำงานของภาครัฐจะไม่ยอมทำงาน แถมยังถือโอกาสใช้ช่วงที่มีสุญญากาศทางการเมืองคอรัปชั่นมโหฬารอีกด้วย

พรรคใหญ่สุดของประเทศคือ พรรคข้าราชการ เมื่อพรรคข้าราชการไม่ขยับขับเคลื่อนและยังถือโอกาสคอรัปชั่น อันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศเข้าสู่สภาวะถดถอยยาวนาน.

No comments:

Post a Comment