2014-02-13

13 กุมภาพันธ์ "วันรักนกเงือก"


13 กุมภาพันธ์ "วันรักนกเงือก"

นกเงือก เป็นนกขนาดใหญ่ ส่วนมากมักจะมีขนสีดำสลับขาว ทั่วโลกมี 55 ชนิด มีการแพร่กระจายอยู่ในแถบเขตร้อน ของทวีปอัฟริกา และเอเชีย นกเงือกเป็นนกผัวเดียวเมียเดียว มีลักษณะการทำรังที่แปลกจากนกอื่น คือ เมื่อถึงฤดูกาลทำรัง นกคู่ผัวเมียจะพากันหารัง ซึ่งได้แก่ โพรงไม้ตามต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นยาง ที่อยู่ในที่ลับตา เมื่อตัวเมียเข้าไปอยู่ในโพรง จะทำความสะอาดแล้วเริ่มปิดปากโพรง ด้วยวัสดุต่าง ๆ เช่น ดิน เปลือกไม้ ตัวเมียจะขังตัวอยู่ภายในเพื่อออกไข่เลี้ยงลูก

ปัจจุบันนกเงือกในประเทศไทยมีทั้งหมด 13 สายพันธุ์ จากทั้งหมด 50 กว่าสายพันธุ์ที่มีอยู่ทั่วโลก ส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก โดยเฉพาะผืนป่าตะวันตก อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ซึ่งรวมแล้วมีนกเงือกประมาณ 3,000 ตัว

รายชื่อนกเงือกที่พบในประเทศไทย
นกกก หรือ นกกะวะ หรือ นกกาฮัง Great Hornbill, Buceros bicornis
นกเงือกหัวแรด Rhinoceros Hornbill, Buceros rhinoceros
นกเงือกหัวหงอก White-crowned Hornbill, Berenicornis comatus
นกชนหิน Helmeted Hornbill, Rhinoplax vigil
นกแก๊ก หรือ นกแกง Oriental Pied Hornbill, Anthracoceros albirostris
นกเงือกดำ Black Hornbill, Anthracoceros malayanus
นกเงือกคอแดง Rufous-necked Hornbill, Aceros nipalensis
นกเงือกสีน้ำตาลคอขาว Austen's Brown Hornbill, Anorrhinus austeni
นกเงือกสีน้ำตาล Tickell's Brown Hornbill, Anorrhinus tickelli
นกเงือกปากดำ Bushy-crested Hornbill Anorrhinus galeritus
นกเงือกปากย่น Wrinkled Hornbill, Aceros corrugatus
นกเงือกกรามช้าง หรือนกกู่กี๋ Wreathed Hornbill, Rhyticeros undulatus
นกเงือกกรามช้างปากเรียบ Plain-pouched Hornbill, Rhyticeros subruficollis

นกเงือกที่พบในป่าตะวันตก
นกเงือกกรามช้างปากเรียบ ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific name): Aceros subruficollis ชื่อสามัญ (Common name): Plain-pouched Hornbill (Rhyticeros)
รูปร่างหน้าตานิสัยเหมือนนกกู๋กี๋ หรือ นกเงือกกรามช้าง มีขนาดย่อมกว่า และต่างกันตรงที่ปากด้านข้างเรียบ ถุงใต้คอไม่มีขีดดำทั้งตัวผู้และตัวเมีย เป็นนกเงือกที่ใกล้สูญพันธุ์ พบบริเวณ ผืนป่าตะวันตกติดกับประเทศพม่า (Myanmar) เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

นกเงือกคอแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific name): Aceros nipalensis ชื่อสามัญ (Common name): Rufous-necked Hornbill
มีขนาดใกล้เคียงกับนกเงือกปากย่น ตัวผู้มีสีสรรสวยงามแต่ไม่มีโหนก ปากสีเหลืองอ่อน อมเขียว ปากบนมีรอยขีดสีดำ ถุงใต้คอสีแสดทั้งสองเพศ ตัวเมียสีดำปลอด เป็นนกเงือกที่พบอยู่ป่าสูง และอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ พบนกเงือกชนิดนี้ได้ทางตะวันตกและ ตะวันตกเฉียงเหนือ เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

นกเงือกสีน้ำตาล (Tickell's) ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific name): Anorrhinus tickelli ชื่อสามัญ (Common name): Tickell's Brown Hornbill
ขนาดเล็กกว่า นกเงือกปากดำ และมีนิสัยคล้ายคลึงกัน แตกต่างจากนกเงือกสีน้ำตาล (Austen's) ตรงที่คอมีสีน้ำตาลแดง ทำรังแบบมีผู้ช่วยแต่ผู้ช่วยจะเป็นตัวผู้ทั้งหมด และไปกันเป็นฝูง กินอาหารจำพวกแมลง สัตว์เล็ก ๆ และผลไม้ เลี้ยงลูกได้มากที่สุดถึง 3 ตัว เป็นนกที่ อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ พบนกเงือกชนิดนี้ ได้ทางภาคเหนือ ตะวันตกและภาคกลาง เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง, อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นต้น

นกเงือกมีบทบาทเด่นในการช่วยกระจายพันธุ์ไม้ในป่า เนื่องจากนกเงือกกินผลไม้สุกเป็นอาหารมากกว่า 300 ชนิด ทั้งผลไม้ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ และด้วยพฤติกรรมของนกเงือกบินหาอาหารไปทั่ว และกินผลไม้เข้าไปทั้งผลแล้วขย้อนเมล็ดออกมา จึงสามารถนำพาเมล็ดพันธุ์พืชไปทิ้งไว้ยังที่ต่างๆ และเจริญขึ้นเป็นต้นกล้าได้ทั่วป่า นกเงือกจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการแพร่พันธุ์ของพืช ช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในป่า และทำให้เกิดความสมดุลในธรรมชาติ

ด้วยความที่เป็นสัตว์รักเดียวใจเดียว ใช้ชีวิตคู่แบบ "ผัวเดียวเมียเดียว" จนแก่เฒ่าหรือกว่าจะตายจากกัน และตัวผู้ยังมีลักษณะของหัวหน้าครอบครัวที่ดี คอยหาอาหารให้และคอยดูแลปกป้องลูกนกและแม่นกให้ปลอดภัย นกเงือกจึงได้รับการยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์ของ "รักแท้"

"ความรักของนกเงือก รักแท้ในป่าทึบ"
นกเงือก เป็นนกที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นนกที่มีความรักเดียวใจเดียว และซื่อสัตย์กับคู่ของมันไปจนตาย เนื่องจากนกเงือกจะจับคู่แบบผัวเดียว – เมียเดียว นกตัวผู้จะเป็นผู้บินไปหานกตัวเมียที่ถูกใจ และเข้าไปเกี๊ยวพาราสีด้วยการนำอาหารหลากหลายชนิดมาให้กับตัวเมีย จนเมื่อนกตัวเมียยอมรับอาหารจึงเป็นการแสดงได้ว่าตัวเมียนั้นได้ยอมตกลงปลงใจเรียบร้อย

แต่ความรักไม่ได้สร้างกันง่ายๆ นกเงือกทั้งคู่จะต้องเลือกสถานที่ทำรังที่เหมาะสม ซึ่งตัวผู้จะทำหน้าที่หาโพรงที่สัตว์ต่างๆ ได้ทำทิ้งไว้ หรือที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติตามต้นไม้สูง เมื่อตัวเมียพอใจกับรังตัวผู้นำเสนอตัวเมียจึงยอมให้ผสมพันธุ์ แล้วนกทั้งคู่ก็จะช่วยกันหาเศษใบไม้ใบหญ้ามาสร้างรังเพื่อรอต้อนรับลูกน้อยที่กำลังจะลืมตาดูโลก แล้วหลังจากนั้นก็จะหาเศษดินมาปิดปากรังเพื่อเป็นการป้องกันอันตรายจากสัตว์นักล่าต่างๆ รวมทั้งสร้างความอบอุ่นให้กับแม่ลูก

แม่นกเงือกจะคอยกกไข่และให้ความอบอุ่นกับลูกที่ฟักมาอยู่ภายในรังโดยไม่ได้ออกไปไหน ตัวผู้จึงมีหน้าที่ในการออกหาอาการเพื่อนำมาเลี้ยงชีวิตทั้งลูกน้อยและคู่รัก จนกว่าลูกนกจะโตพอบินได้จึงกะเทาะปากโพรงที่สร้างด้วยเศษดินนั้นออกมา ความรักของนกเงือกจึงเปรียบเสมือนรักแท้ในป่าทึบ เพราะหากวันใดวันหนึ่งที่นกตัวผู้เกิดไม่ออกหาอาหาร หรือตายไป คู่รักของมันที่รออยู่ที่โพรงก็จะยังคงรออยู่อย่างนั้น ไม่มีวันออกไปไหน รอจนหมดเรี่ยวแรงและตายลงไป พร้อมกับลูกนกเคราะห์ร้ายที่ไม่มีโอกาสได้ออกมาพบกับโลกภายนอก

นอกจากความรัก และความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ของนกเงือกแล้ว นกเงือกยังเป็นสัตว์สำคัญที่เป็นตัวแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าที่มันอาศัยอยู่ เพราะมันจำเป็นจะต้องสร้างรังในโพรงต้นไม้สูง แข็งแรง ในป่าทึบ และด้วยความหลากหลายของการกินอาหาร นกเงือกจึงเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงดุลยภาพต่างๆ ในสังคมป่าเขตร้อนให้คงอยู่ ไม่เปลี่ยนแปลง นกเงือกอาจมีอายุยืนยาวได้ถึง 30 ปี แต่ละตัวสามารถช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้มากกว่า 100 ต้น/สัปดาห์ หากไม้เหล่านี้สามารถเจริญเป็นไม้ใหญ่ได้เพียง 5 เปอร์เซ็นต์ หนึ่งชีวิตของนกเงือกจะสามารถปลูกไม้สำคัญของป่าได้ถึง 500,000 ต้น

ดังนั้นความรักของนกเงือก จึงไม่ใช่เพียงเพื่อขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนให้กับสายพันธุ์ของมันเองเท่านั้น มันกลับเผื่อแผ่ความรักของมันให้กับป่า ให้กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวของมัน ซึ่งมนุษย์เราก็ได้รับประโยชน์จากความรักนั้นในทางอ้อมจากความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ

เพื่อให้คนไทยเกิดความตระหนักและเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์นกเงือกให้คงอยู่คู่กับป่าที่อุดมสมบูรณ์ตลอดไป มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ ผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกาย HORNBILL บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จึงได้กำหนดให้วันที่ 13 ก.พ. ของทุกปีเป็น "วันรักนกเงือก" โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา และมีการจัดกิจกรรมเพื่อระดมทุนสำหรับการศึกษาวิจัยและอนุรักษ์นกเงือกในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี

ขอบคุณข้อมูลจาก : เพจอาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อม
ในภาพ : "น้องน้ำหวาน" อุทยานแห่งชาติเขาแหลม จ.กาญจนบุรี 

No comments:

Post a Comment