2012-04-04

P.พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา


KP Page

KP Page's profile photo
KP Page 11:49 AM (edited)  -  Public
หากคิดตามหลักเสรีภาพของจอห์น สจ๊วต มิลล์ เราจะเข้าใจได้ว่านี่เป็นการท้าทายของ “ความเห็นต่าง” ที่เป็นโอกาสให้ “ความคิดกระแสหลัก” ได้ “ออกกำลัง” มีชีวิตชีวา ไม่ดำรงอยู่อย่างครอบงำให้คนเชื่อตามๆ กันอย่างปราศจากการตั้งคำถาม เพราะถ้าความคิดกระแสหลักไม่ถูกท้าทาย ไม่ได้ออกกำลังโต้แย้งกับความเห็นต่าง มันก็จะกลายเป็นความคิดที่เชื่อตามๆ กันอย่างงมงาย ไร้พลัง จืดชืด ไม่มีชีวิตชีวา และตายซากไปในที่สุด

ความจริงแล้ว พระพุทธเจ้าเองก็เคยตั้งคำถามกับความคิดกระแสหลักหลายๆ เรื่องในสมัยพุทธกาล เช่นที่เชื่อกันว่าสามารถล้างบาปในแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ได้ ท่านก็ถามว่า “ถ้าเช่นนั้นกุ้ง หอย ปู ปลา เต่าที่มันแช่อยู่ในน้ำตลอดเวลาก็ต้องบริสุทธิ์จากบาปใช่หรือไม่?” หรือที่เชื่อกันว่า “คนมีวรรณะ (ชนชั้น) ต่างกันเพราะเกิดจากปาก ไหล่ สะดือ เท้าของพระพรหม และ คนเราดี เลว ต่างกันเพราะชาติกำเนิด” ท่านก็พูดแรงๆ เลยว่า “คนทุกชนชั้นต่างก็เกิดจากโยนีของมารดาทั้งนั้นแหละ เรื่องจะดีหรือเลวอยู่ที่การกระทำของบุคคล ไม่ได้อยู่ที่ชาติกำเนิด” เป็นต้น

จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าต้องการแนะนำให้คนมีเหตุมีผล เชื่อและกระทำในสิ่งที่อธิบายได้ว่าถ้าทำอย่างนี้แล้วจะเกิดผลอย่างนี้ ไม่ใช่ให้เชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปาฏิหาริย์ที่อธิบายให้เห็นความสัมพันธ์เป็นเหตุเป็นผลไม่ได้
เช่น อธิบายให้เห็นความเป็นเหตุผลไม่ได้ว่าการสวดมนต์ข้ามปีจะมีปาฏิหาริย์ให้ชีวิตดีมีความสุข ความเจริญได้อย่างไร การเดินธุดงค์บนถนนที่โรยด้วยกลีบกุหลาบของพระ 1,500 รูป เข้ามาในย่านชุมชนเมืองจะมีปาฏิหาริย์ช่วยป้องกันภัยพิบัติต่างๆ เช่น น้ำท่วมใหญ่ ดังที่เคยเกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาได้อย่างไร ฯลฯ

พระพุทธเจ้าอยู่ในยุคที่สังคมยังไม่มีเสรีภาพเท่าปัจจุบัน แต่พระองค์ก็พยายามต่อสู้เพื่อให้มีเสรีภาพในสถานการณ์ที่จำกัด โลกปัจจุบันให้คุณค่าสูงยิ่งกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ทว่าชาวพุทธปัจจุบันกำลังเดินสวนทางกับพระพุทธเจ้าด้วยการทำลายเสรีภาพในนามของการ “ปกป้องพุทธศาสนา”

http://prachatai.com/journal/2012/04/40050 

KP Page

KP Page's profile photo
  
รายงานว่า "คำ ผกา" นักเขียนชื่อดังและผู้ดำเนินการรายการของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมวอยซ์ทีวี ได้แสดงความรับผิดชอบ ขอยุติจัดรายการ "คิดเล่น เห็นต่าง" ที่แพร่ภาพผ่านทางสถานีโทรทัศน์ช่องดังกล่าวเป็นเวลานาน 1 เดือน หลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าใช้วาจาพาดพิงพุทธศาสนาและมหาเถรสมาคม โดยยืนยันจะไม่ก้าวล่วงในเรื่องนี้อีก
ทั้งนี้ ในรายการ "คิดเล่น เห็นต่าง" ที่ออกอากาศเมื่อวันที่อาทิตย์ที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา ในช่วงก่อนเข้ารายการ "คำ ผกา" หรือ ลักขณา ปันวิชัย ผู้ดำเนินรายการ ได้กล่าวกับผู้ชมว่า "รายการของเราเทปนี้ แขกมีเรื่องที่ต้องกราบเรียนให้คุณผู้ชมทราบว่า รายการของเราต้องหยุดออกอากาศเป็นเวลา 1 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ 14 เมษายน นี้ และจะกลับมาออกอากาศอีกครั้งในวันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม 2555"
โดยระบุเหตุผลว่า สาเหตุที่ต้องหยุดออกอากาศชั่วคราวเนื่องจากต้องการแสดงความรับผิดชอบ และขอขมาต่อพระรัตนตรัยรวมทั้งขอกราบขอโทษต่อมหาเถรสมาคม และองค์กรพุทธทั่วประเทศ ที่รายการได้กล่าวล่วงเกินซึ่งออกอากาศในวันเสาร์ที่ 10 มีนาคม ในประเด็นที่ว่าด้วยเรื่องการสวดมนต์ข้ามปี และนับตั้งแต่นี้ต่อไป รายการของเราจะไม่กล่าววาจาใดๆ ที่กล่าวล่วงเกินต่อพระพุทธศาสนาอีกต่อไป พร้อมกราบขออภัยมาด้วยความเคารพมา ณ โอกาสนี้

  
หมายเหตุ: วันนี้ (9 เม.ย.) สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์สถานะลงในเฟซบุคตั้งค่าการเข้าถึงสาธารณะ หลังจากที่ลักขณา ปันวิชัย หรือ "คำ ผกา" ประกาศก่อนเข้ารายการ “คิดเล่น เห็นต่าง” ทางวอยซ์ทีวี ซึ่งคำ ผกา เป็นผู้ดำเนินรายการว่าจะหยุดออกอากาศรายการเป็นเวลา 1 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่ 14 เมษายน นี้ และจะกลับมาออกอากาศอีกครั้งในวันเสาร์ที่ 12 พฤษภาคม 2555 โดยให้เหตุผลว่า สาเหตุที่ต้องหยุดออกอากาศชั่วคราวเนื่องจากต้องการแสดงความรับผิดชอบ และขอขมาต่อพระรัตนตรัยรวมทั้งขอกราบขอโทษต่อมหาเถรสมาคม และองค์กรพุทธทั่วประเทศ ที่รายการได้กล่าวล่วงเกินซึ่งออกอากาศในวันเสาร์ที่ 10 มีนาคม ในประเด็นที่ว่าด้วยเรื่องการสวดมนต์ข้ามปี (ข่าวที่เกี่ยวข้อง)
โดยความเห็นของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มีรายละเอียดดังนี้
000
นี่ผม "ช็อค" มากเลยนะ
ผมไม่ทราบว่า คุณแขก Kiku Nohana มีเหตุผลอะไรเรื่อง "ขอขมา" และ "พักรายการ 1 เดือน" นะครับ และขอย้ำว่า ทีเขียนต่อไปนี้ ไม่ได้เป็นการพูดถึงหรือวิจารณ์คุณแขก โดยตรง
แต่ทีคุณแขก พูดไปเมื่อวันที่ 10 มีนาคม มันเป็น "สาธารณะ" ไปแล้ว (เหมือนงานเขียน หรือการพูดในทีสาธารณะของใครก็ตาม) และก็มีปฏิกิริยา จากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะกรณี พระมหาโชว์ ("นมเหียว" "หัวนมดำ") เป็นประเด็นสาธารณะไปแล้วเช่นกัน
บอกตรงๆว่า รู้สึกไม่ดีมากๆเลย กับการที่เรื่องมาลงเอยแบบนี้
คุณแขก พูดไปตอนแรก เมื่อวันที่ 10 มีนา จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ยังไงก็ตาม ก็ควรถือเป็นเรืองถกเถียง
ต่อให้ คนที่ไม่เห็นด้วย ก็เถียงกัน ดีเบตกัน แม้แต่ "ดีเบต" แย่ๆ แบบพระมหาโชว์ ตอนแรก ก็ยังดี
ที่ไม่ดี คือ เริ่มไป "ดึง" อำนาจรัฐ เข้ามาเกียวข้อง ด้วยการยื่นหนังสือต่อ กมธ.สภา นันแหละ
และทีตอนนี้ ผมเห็นว่า ไม่ดีมากๆ ก็คือการลงเอยแบบนี้แหละ
.............
ผมไม่ได้ตั้งใจจะโยงอะไร แต่ถ้าใครติดตามที่วันก่อนผมไป "ดีเบต" กับ คุณ ศาสดา ประเด็นมันอันเดียวกันนันแหละ
ประเทศนี้ "พื้นที่อ่อนไหว" (sensitive areas) หรือ "พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์" (sacred areas) มันมากเกินไป
และสังคมไทยควรต้องเรียนรู้ที่จะ
(ก) ลดทอน "ความศักดิ์สิทธิ์" ทังหลายลง ให้กลายเป็นเรื่องความเห็น ความรู้สึกส่วนตัว ในแง่ "คำสอน" อะไรเฉยๆ ไมใช่อะไรที่มัน "ศักดิ์สิทธิ์" (ไหนๆ พุทธ เองก็ชอบอ้างไมใช่หรือ เรื่อง เป็นวิทยาศาสตร์ ไมใช่เรืองศักดิ์สิทธิ์)
และ (ข) ต่อให้ บางคนจะยังรู้สึกว่า มีบางอย่าง "ศักดิ์สิทธิ์" ก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับคนอื่นที่ เห็นว่า สิ่งนัน ไม่เพียงไม่ศักดิ์สิทธิ์ ยัง "ดาษๆ" (profane) หรือ ตรงข้ามกับความ "ศักดิ์สิทธิ์" นั้น ด้วย
ความจริง ผมนึกจะเขียนเรือ่งนี้ อยู่พอดี เมื่อเช้า ทีเห็น "ปางแม็คโดนัลด์" น่ะ นึกไม่ถึงว่า จะมาเจอกรณีนี้ให้เขียน โดยโยงกับประเด็นนี้
000
ก่อนอื่น ขอให้ผมย้ำว่า ผมถือว่า ที่ "ดีเบต" กับคุณ ศาสดา มัน "จบ" แล้ว (ไม่ได้แปลว่า ไม่ยินดีจะดีเบตอีกในประเด็นเดียวกันนะ) และผมไม่เคยมองว่า มันเป็นเรือ่ง "แพ้-ชนะ" อะไร และจริงๆ ก็ไม่แฮปปี้เท่าไร ทีหลายคน ล้อเล่น เป็นเรือ่งทำนองนั้น (แต่ก็เข้าใจว่า เป็นความเคยชินทีจะเฮฮาแบบนัน)
ทีผมยกเรือ่งนี้ขึ้นมาอีกก็เพราะจะย้ำว่า
ทำไม วันก่อน ผมจึง "เอาเป็นเอาตาย" "เอาจริงเอาจัง" กับประเด็นนั้นมาก
เพราะผมมองในเรื่อง "นัยยะ" ทีมันกว้างออกไป ถึงปัญหา ซึงผมเห็นว่าสำคัญมากๆ และเป็นเรื่องร่วมสมัยมากๆ คือ
เราควร "จัดการ" อย่างไร กับปัญหาเรื่อง "ความศักดิ์สิทธิ์" ในสังคมสมัยใหม่ ไมว่าจะเป็นเรื่องทีเกียวกับ ศาสนา หรือ เกี่ยวกับ กษัตริย์
ผมมองว่า กรณีล่าสุดเรือ่งรายการของคุณแขก Kiku Nohana ก็เป็นเรื่องนี้
คือ เริ่มจาก มีบางคน (คุณแขก) แสดงความเห็นบางอย่างหรือแสดงออกบางอย่างออกไป
แล้วมีคนอีกส่วนหนึง (ต่อให้เป็น "ส่วนใหญ่" หรือ จำนวนมากกว่า ผมไม่คิดว่าเป็นประเด็น) ที ไม่พอใจ หาว่าเป็นการ "ละเมิดความศักดิ์สิทธิ์" บางอย่าง
ผมยืนยัน เหมือนกับทียืนยันในการ "ดีเบต" กับคุณศาสดา ว่า
ในสังคมสมัยใหม่ เราต้องเริ่มต้นจากหลักการทีว่า
แต่ละคนมีสิทธิทีจะคิด และแสดงความเห็นอย่างเสรี ไม่รุนแรง
และ ความเห็นแต่ละคน หรือบางคน อาจจะไปในทางตรงกันข้ามแบบสุดๆ เลย กับสิ่งทีคนอื่น หรือคนจำนวนมากเชื่อกันอยู่
ทางออกคือ ต้องส่งเสริมวัฒนธรรมทีรู้จัก "อดทน อดกลั้น" หรือทีเรียกว่า "ขันติธรรม" (tolerance) ต่อความเห็นทีไม่เหมือนกับเรา
และจะอ้าง เรื่อง "จำนวน" เรื่อง "เสียงส่วนใหญ่" อะไร มากดทับ มาบังคับ ไมให้ คนทีเป็น "ส่วนน้อย" กระทัง เป็นเพียงคนๆเดียวในสังคม ไม่ได้
เราต้องเริ่มต้น จากการยอมรับว่า ในสังคมสมัยใหม่ มีความหลากหลายทางความคิด มากๆ 
สิ่งเดียวกัน ทีบางคน (แม้แต่ "คนส่วนใหญ่") เห็นว่า "ศักดิ์สิทธิ์" "แตะต้องไม่ได้" ก็มีบางคน (แม้แต่ แค่ คนเดียว) ทีจะเห็นตรงข้ามเลยก็ได้ คือ ไม่เพียง "ไม่ศักดิ์สิทธิ์" อาจจะเห็นว่า "ล้อเลียนได้" "ประณามได้" ด้วย
000
วันก่อนระหว่าง "ดีเบต" กับคุณ ศาสดา ผม "แตะ" หรือยกตัวอย่างสั้นๆ ถึงกรณี การ์ตูนที่ฝรังเดนมาร์ก คนหนึง เขียนล้อเลียนพระศาสดาของอิสลาม อันทีจริง มีอีกตัวอย่างทำนองเดียวกัน คือเรื่อง "ซัลมาน รุสดิ" ในนิยายเรื่อง The Satanic Verses
(หรือ ทีผมยกซ้ำแล้วซ้ำอีก ในเรื่องเกียวกับ สถาบันกษัตริย์ไทย เรื่อง "พ่อ" อะไรนี่แหละ)
ผมขอย้ำว่า ผมเองไม่เห็นด้วยกับการ์ตูน นสพ. เดนมาร์ก ที่วา และต้องการจะบอกว่า ฝรั่งจำนวนมาก รวมทั้งชาวเดนมาร์ก เอง ก็ไม่เห็นด้วย กรณี รุสดิ ก็เช่นกัน คนอังกฤษ หรือคนฝรังเอง จำนวนไม่น้อย ก็ไม่ชอบที รุสดิ เขียน
แต่ปัญหาคือ สังคมที่ "mature" หรือ มี "วุฒิภาวะ" ทางด้านวัฒนธรรม อย่างในกรณีเดนมาร์ก หรือ อังกฤษ เขาจุัดการเรือ่งนี้ คนละแบบกับสังคม ที่ไม่ยอมบรรลุ วุฒิภาวะ อย่างประเทศไทย หรือประเทศแถบนี้หลายประเทศ
นันคือ เขาถือว่า นี่เป็น "ความเห็น" ของเอกชน คนหนึง ที่มีสิทธิจะแสดงออกได้ และได้รับการคุ้มครอง การแสดงออกนั้น ตามหลักประชาธิปไตยของเขา
หลายคนชี้ให้เห็นด้วยว่างาน "ศิลปะ" หรือ "ศิลปิน" หรือ นักคิดนักเขียน ปัญญาชน นั้น มีลักษณะอย่างหนึงทีเลี่ยงไม่ได้เสมอ คือ offend ("ก่อให้เกิดความระคายเคืองใจ") ต่อคนอื่นๆ อยู่เป็นปรกติอยู่แล้ว เพราะนี่เป็น ธรรมชาติ ของงานศิลปะ หรือ ธรรมชาติ ของการแสดงออกของการคิด การตั้งคำถาม ซึงเป็นการสะท้อน ความอุดมสมบุรณ์ของวัฒนธรรมในสังคมทีเสรี
ถ้าการแสดงออกของ "เอกชน" คนใด อย่างกรณีนักวาดการ์ตูน หรือ กรณีรุสดิ ไป offend ความรู้สึกใครเข้า คนที่รู้สึกถูก offended ก็สามารถตอบโต้ ประณาม ได้
แต่ที่ไม่ควรทำมากๆคือ การไปสร้างการ "กดดัน" ให้เอกชนนั้น ต้อง ยุติ หรือต้อง "ถอน" หรือบังคับห้ามการแสดงออกนั้น
ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ไมควร จะใช้การข่มขู่ หรือ กดดัน ด้วยกฎหมาย ด้วยอำนาจรัฐ เด็ดขาด (รุสดิ ถูก "หมายหัว" เป็นเวลาหลายปี ทางการอังกฤษ ซึงก็ไม่ได้แชร์ ทัศนะ ของรุสดิ ก็ยังให้ความคุ้มครองชีวิตให้)
มีแต่ต้องใช้ท่าที หรือ ทางออกแบบนี้ เท่านั้น จึงจะสอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคมสมัยใหม่ที่ (ก) มีความหลากหลายทางความคิด และ (ข) แต่ละคนมีสิทธิ์ เท่าเทียมกัน ทีจะคิดตามแบบของตัวเอง
000
เอ้า เชิญดู-ฟังกันเองอีกครั้ง หรือ โหลดเก็บไว้ เผื่อจะถูกลบหายไป
รายการ "คิดเล่นเห็นต่าง" 
วันที่ 10 มีนาคม 2555
วันที่ 11 มีนาคม 2555
และอันนี้ มีคนตัดตอนเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้อง
000
บอกตรงๆว่าผม upset กับเรื่องนี้มากๆ
ความเห็นของคุณแขก Kiku Nohana ใน "คิดเล่นห็นต่าง" วันที่ 10 - 11 มีนาคม จะถูกผิดยังไง ก็เถียงกันได้
แต่ผมมองไม่ออกเลยว่า จะถือเป็นการ "ล่วงเกินพระพุทธศาสนา" ได้อย่างไร? อะไรคือ "ล่วงเกินพระพุทธศาสนา"?? การตีความนโบายและโครงการบางอย่างของรัฐและองค์การสงฆ์ แม้กระทั่งการปฏิบัติบางอย่างของชาวพุทธ ที่ต่างกับการตีความขององค์กรสงฆ์ หรือ "ชาวพุทธส่วนใหญ่"? ความเห็นในเรื่องแบบนี้ ใช้ "เสียงส่วนใหญ่" หรือจำนวนคน หรือองค์กรศาสนา มาตัดสิน กดดันบังคับ ความเห็นของเอกชน แม้แต่คนเดียวได้หรือ?
ยิ่งมองไม่ออกเลยว่า คุณแขก มีอะไรทีต้อง "ขอขมาต่อพระรัตนตรัย" หรือ องค์กรสงฆ์ต่างๆ

  

ร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาทำให้ 'พระ' กลายเป็น 'อภิสิทธิชน' ยิ่งกว่า 'เจ้า'

หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 23 ก.พ.55 รายงานว่า สำนักงานพระพุทธพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา กลับไปยังนายกรัฐมนตรีแล้ว โดย พศ.เห็นด้วยกับการที่จะมีกฎหมายนี้ และขณะนี้ทราบว่าทางนายกรัฐมนตรีได้ส่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวทั้งหมดให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาก่อนที่จะส่งกลับมาที่นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง จากนั้นต้องอยู่ที่การพิจารณาของนายกรัฐมนตรีว่าจะเสนอบรรจุเข้าในระเบียบวาระการประชุมของสภาหรือไม่
ตามรายงานข่าว ร่างพ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนามีอยู่ 3 ฉบับ คือ ฉบับของพรรคประชาธิปัตย์ ฉบับของพรรคเพื่อไทย และฉบับของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมาเป็นเวลา 4 ปี แล้ว แต่ยังไม่สามารถดำเนินการบรรจุเข้าในวาระการประชุมของสภาได้
ปัญหาคือ ร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับดังกล่าว มีเนื้อหาเช่นเดียวกันกับ “ร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ. ...” ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในยุค คมช.หรือไม่ หากมีเนื้อหาเดียวกัน หรือเป็นฉบับเดียวกันก็ต้องถือว่าเป็น “กฎหมายเผด็จการ” ที่น่ากลัวยิ่งกว่า ม.122 เสียอีก
เพราะเป็นกฎหมายที่ยกสถานะของ “พระ” ให้เป็น “อภิสิทธิชน” ยิ่งกว่า “เจ้า” และกำหนดลักษณะความผิด “ครอบจักรวาล” และกำหนดอัตราโทษไว้สูงมาก เช่น
มาตรา 9 การจาบจ้วง ละเมิด ลอกเลียน บิดเบือน หรือการกระทำอื่นใดให้พระศาสดา ศาสนธรรม ศาสนศึกษา ศาสนบุคคล ศาสนสถาน ศาสนวัตถุ ศาสนสมบัติ และศาสนพิธี ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสีย มัวหมอง หรือวิปริตผิดเพี้ยน จะกระทำมิได้
จะเห็นว่า ลักษณะความผิดตามมาตรานี้ “ครอบจักรวาล” มาก คำว่า “จาบจ้วง ล่วง ละเมิด บิดเบือน เสียหาย เสื่อมเสีย มัวหมอง วิปริตผิดเพี้ยน” หากเทียบกับ ม.112 ที่ว่า “ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย...”ยังชัดเจนกว่า แต่ขนาดชัดเจนกว่าก็เกิดปัญหาในเรื่อง “การตีความ” ตลอดมา และกลายเป็น “อาวุธ” ให้ “พวกคลั่งเจ้า” ล่าแม่มดได้อย่างน่ากลัว
คำถามคือ ถ้ามีกฎหมายที่ระบุลักษณะความผิดอย่างคลุมเครือ สามารถตีความได้ครอบจักรวาลเช่นนี้ กฎมายแบบนี้จะเป็น “อาวุธ” ให้ “พวกคลั่งศาสนา” ล่าแม่มดจนก่อให้เกิดความวุ่นวายมากขนาดไหน
มาตรา 21 ผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา 9 ในส่วนที่เกี่ยวกับพระศาสดาและศาสนธรรม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท
การ “จาบจ้วง” “ล่วงละเมิด” พระศาสดาคืออะไรหรือ ถ้าเป็นการด่า การทำร้าย ในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าเองก็เคยถูกด่า ถูกใส่ร้ายว่าทำให้สตรีตั้งครรภ์ก็มี ถูกทำร้ายก็มี แต่ท่านไม่ด่าตอบ ไม่เคยเรียกร้องให้อำนาจรัฐเข้ามาจัดการ
ทว่าวางหลักการเอาไว้ว่า “ถ้ามีใครบริภาษหรือด่าพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ พุทธบริษัทไม่ควรโกรธ ควรมีสติ ชี้แจงข้อเท็จจริงและเหตุผลไปตามควรแก่กรณี” นอกจากนี้ท่านยังเตือนสติว่า “ใครก็ตาม มีความโกรธต่อผู้ทำร้ายตน ไม่ชื่อว่าปฏิบัติตามคำสอนของตถาคต”
แล้ว “จาบจ้วง” “ล่วงละเมิด” “บิดเบือน” ศาสนธรรมจะตัดสินจากเกณฑ์อะไร? เพราะในประวัติศาสตร์ก็มีการตีความคำสอนของพุทธศาสนาไม่ตรงกันมาตลอด ตอนที่พระพุทธเจ้ายังมีชีวิตอยู่ก็มีการตีความเรื่อง “อัตตา-อนัตตา” ไม่ตรงกันแล้ว และหลังจากท่านปรินิพพานแล้ว ก็ยิ่งมีการตีความคำสอนในเรื่องอื่นๆ ต่างกัน จนเกิดการแตกแยกเป็นนิกายต่างๆ กว่าร้อยนิกาย
ที่สำคัญหลักกาลามสูตรก็เปิดให้ผู้ศึกษาพุทธมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ คือจะไม่เชื่อแม้แต่ครูหรือศาสดาเลยก็ได้ ให้เชื่อความจริงที่ตนพิสูจน์ได้แล้วเท่านั้น 
แล้วกำหนดไปได้อย่างไร “โทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท”คนที่คิดมาตรานี้ไม่รู้คิดกันขึ้นมาได้จากหลักการอะไร ไม่ “ละอาย” ต่อพระพุทธเจ้าบ้างหรือครับ
เพราะพระพุทธเจ้าทำตัวเป็น “คนธรรมดา” ถูกด่าได้ วิจารณ์ได้ เมื่อมีคนทำร้าย (เช่นเทวทัตลอบสังหาร) ก็ไม่เรียกร้องให้เอาผิดทางกฎหมายใดๆ 
คือหากคิดจากมุมมองของพระพุทธเจ้า เรื่องการด่า หรือเรื่องประเภทจาบจ้วง ล่วงละเมิดอะไรพวกนี้ มันไร้สาระมากเลย แค่จะเก็บมาเป็นอารมณ์ก็ไม่ควรแล้ว จะไปคิดเรื่องจะเอาผิดเอาโทษทางกฎหมายไปทำไม เพราะถ้าไม่เป็นอย่างที่เขาด่า หรือจาบจ้วง มันจะเสียหายอะไร
พระพุทธเจ้าไม่ได้ต้องการทำให้ธรรมะเป็น “ของศักดิ์สิทธิ์” ไม่ต้องการให้ศาสดาหรือครูเป็น “บุคคลศักดิ์สิทธิ์” ฉะนั้น ใครจะตั้งคำถามกับธรรมะ หรือศาสดาอย่างไรก็ได้ ด่าได้ วิจารณ์ได้ ไม่ถือเป็นการจาบจ้วง ล่วงละเมิดที่ต้องมีความผิดทางกฎหมายใดๆ ทั้งสิ้น (หากจะผิดก็เป็นเรื่องทางศีลธรรม ที่มีผลทางศีลธรรมเช่นการถูกตำหนิติเตียนเป็นต้นเท่านั้น) นี่คือ “เสรีภาพ” ทางความคิด ความเชื่อที่พระพุทธเจ้ารับรอง
แต่มาตรา 21 ในร่าง พ.ร.บ.นี้กำลังทำให้เสรีภาพที่พระพุทธเจ้ารับรองไว้แล้วกลายเป็นความผิดร้ายแรงที่ “ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบห้าปี และปรับตั้งแต่ห้าแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาท” คิดจากจุดยืนของพระพุทธเจ้าแล้วเป็น “โทษที่อำมหิต” เหลือเกินครับ ถึงจะคิดว่าผู้ร่างกฎหมายมี “เจตนาดี” แต่เป็นเจตนาดีที่ทำลายหลักการที่ถูกต้องของพระพุทธเจ้าอย่างสิ้นเชิง 
คือถ้าชาวพุทธคิดว่าใครจาบจ้วงล่วงละเมิดพระพุทธเจ้าและพระธรรมต้องจับเขาไปติดคุกขั้นต่ำสุดตั้ง 10 ปี เราจะอธิบาย “กรุณาคุณ” ของพระพุทธเจ้าอย่างไรไม่ทราบ จะอธิบายคุณธรรมเรื่องปัญญาและกรุณาอย่างไร จะอธิบายเมตตาธรรมที่อภัยได้แม้กระทั่งศัตรูอย่างไร 
มาตรา 22 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 9 ในส่วนที่เกี่ยวกับศาสนศึกษา ศาสนบุคคล ศาสนสถาน ศาสนวัตถุ ศาสนสมบัติ และศาสนพิธี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท
ถามว่า “ศาสนบุคคล” คือพระภิกษุ สามเณร หรือชี ใช่หรือไม่ หากตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์แม้แต่พระพุทธเจ้าเองยังถูกด่าได้ วิจารณ์ได้โดยไม่ผิดกฎหมายใดๆ ทำไมพระภิกษุ สามเณร หรือชีในยุคปัจจุบันจะต้องเป็น “อภิสิทธิชน” ยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า
มาตรานี้กำลังยกให้พระภิกษุ สามเณร หรือชีมีสถานะเป็น “อภิสิทธิชน” ซึ่งขัดต่อหลักความเสมอภาคทางกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตย พระภิกษุ สามเณร หรือชีนั้นอีกสถานะหนึ่งคือ “ประชาชน” ในรัฐที่ย่อมได้รับความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพอย่างเสมอภาคกับบุคคลอื่นๆ อยู่แล้ว เช่น กฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาก็คุ้มครองถึงบุคคลที่เป็นภิกษุ สามเณร ชี อยู่แล้ว
การบัญญัติกฎหมายเช่นนี้กำลังสถาปนาสถานะทางกฎหมายของ “พระ” ให้เหนือกว่า “เจ้า” ด้วยซ้ำ เพราะพระมีเสรีภาพเต็มที่ที่จะพูด หรือแสดงความเห็นทางการเมือง และก็ทำกันเช่นนี้อยู่ตลอดมา 
สมมติต่อไปมีกฎหมายแบบนี้จริง ถ้ามีพระออกมาพูด “ฆ่าเวลาบาปมากกว่าฆ่าคน” ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองแล้วมีคนทนไม่ได้กับคำพูดแบบนี้แล้วด่ากลับ และถูกตีความว่า “จาบจ้วง ล่วงละเมิด ทำให้เสียหาย เสื่อมเสีย มัวหมอง” เขาต้องติดคุกห้าถึงสิบปี หรือโดนปรับเป็นแสนเลยหรือ
คือพระจะพูดอะไรก็พูดได้ใช่ไหมครับ “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” “ฆ่าเวลาบาปมากกว่าฆ่าคน” เกรียนกับความทุกข์ของชาวบ้านทางเฟซบุ๊ค หรือด่าสีกาว่านมเหี่ยว ฯลฯ พระมีเสรีภาพพูดได้หมดเลย แต่ถ้าชาวบ้านด่ากลับจะต้องถูกตีความว่า “จาบจ้วง ล่วงละเมิด ทำให้เสียหาย เสื่อมเสีย มัวหมอง” มันไม่เป็นกฎหมายที่ “เสียสติ” หรือ “อยุติธรรม” เกินไปหรือครับ! 
ข้อความต่อไปนี้ยิ่งน่าเกลียด
ผู้ใดร่วมประเวณีไม่ว่าทางใดและวิธีการใดกับพระภิกษุ สามเณร หรือแม่ชี ตลอดจนผู้ชักจูง จัดหา หรือจ้างวาน ให้มีการร่วมประเวณีดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงห้าแสนบาท
ตกลงแม้แต่เรื่อง “เอากัน” พระภิกษุ สามเณร หรือแม่ชี ก็มี “อภิสิทธิ์” เหนือคนธรรมดา คือพระภิกษุ สามเณร แม่ชีเอากับชาวบ้านแล้วแค่ต้องอาบัติปาราชิก แล้วก็สึกออกมาสบายใจเฉิบ แต่ชาวบ้านต้องติดคุกตั้งแต่ 5 ถึง 10 ปี ไม่ทราบว่าผู้ร่างกฎหมายใช้ “หลักการ” อะไรในการร่างข้อความที่ “วิปริต” แบบนี้
เพราะตามหลักการของพุทธศาสนานั้น การทำผิดวินัยสงฆ์ หรือผิดหลักศีลธรรมทางพุทธศาสนา มีแต่ “สมณเพศ” ต้องผิดมากกว่า มีโทษทางศีลธรรมหนักกว่าคนธรรมดา เพราะเป็นผู้รู้เรื่องหลักวินัยสงฆ์ และหลักศีลธรรมทางศาสนาดีกว่า และมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบรักษาวินัยและหลักศีลธรรมทางพุทธศาสนามากกว่า
มาตรา 23 ผู้ใดกระทำความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญา ถ้าการกระทำความผิดนั้นเป็นการกระทำต่อพระภิกษุ สามเณร หรือแม่ชี ผู้นั้นต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้นๆ สามเท่า
มาตรานี้ก็ขัดต่อ “หลักความเสมอภาคทางกฎหมาย” เช่นกัน ทำไมต้องระวางโทษหนักกว่าคนธรรมดาถึง 3 เท่าครับ ใช้หลักการอะไรคิด?
ผมเข้าใจว่า ชาวพุทธทั้งพระสงฆ์และฆราวาสที่ร่วมกันผลักดันให้มีร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คงทำไปด้วย “เจตนาดี” แต่เป็นเจตนาดีที่ขาดความชัดเจนในหลักการดั้งเดิมของพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าถือว่าพระศาสดา พระสงฆ์ เป็นคนธรรมดา ไม่ใช่ “บุคคลศักดิ์สิทธิ์” พระธรรมไม่ใช่ “ของศักดิ์สิทธิ์” ที่ด่าไม่ได้ วิจารณ์ไม่ได้ ซึ่งหลักการเช่นนี้แสดงถึง “ความมีใจกว้าง” (Tolerance) ในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายทางความคิดความเชื่อ
พุทธศาสนาอยู่ท่ามกลางลัทธิความเชื่อทางศาสนาที่แตกต่างหลากหลายโดยไม่มีความขัดแย้งรุนแรง ก็เพราะมีหลักการรองรับความมีใจกว้างดังกล่าว (เช่นที่ปรากฏใน “โอวาทปาฎิโมกข์” เป็นต้น)
แต่ในยุคปัจจุบันพุทธศาสนาอยู่ในสังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ที่ให้คุณค่าสูงยิ่งกับสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค หลักสิทธิมนุษยชน และหลักความมีใจกว้างในสังคม “พหุวัฒนธรรม” จึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ที่จะมี “กฎหมายเผด็จการ” คุ้มครองพุทธศาสนาอย่างเป็นพิเศษเช่นนี้
ซึ่งโดยสาระแล้ว ร่างกฎหมายดังกล่าว ทำให้สถานะของพระภิกษุ สามเณร และชี กลายเป็น “อภิสิทธิชน” ยิ่งกว่า “เจ้า” และยิ่งกว่า “พระพุทธเจ้า” ด้วยซ้ำ กฎหมายแบบนี้จึงไม่ควรมี เพราะไม่เป็นประโยชน์ใดๆ แก่พุทธศาสนาและขัดต่อหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอย่างสิ้นเชิง

No comments:

Post a Comment