Puangthong R. Pawakapan
ความล้าหลังของศาลทหาร: ไม่เลิกก็ต้องปฏิรูป (บทเรียนจากอารยะประเทศ) (๑)
ในช่วงที่ผ่านมา เห็นฝ่ายสนับสนุนรัฐประหารพูดกันมากว่า หลังรัฐประหาร การดำเนินคดีกับพลเรือนในศาลทหาร ไม่มีปัญหาความยุติธรรม ก็เลยทำให้เราสงสัย อยากรู้ว่าประเทศอื่นๆ ที่อารยะ เป็นประชาธิปไตย เขามองศาลทหารกันอย่างไร อ่านแล้วก็เลยอยากเอามาแชร์ไว้ตรงนี้
%%%%%%%%%%%%%%%%
กำเนิดของศาลทหารนั้นมีเหตุผลของสภาพแวดล้อมรองรับอยู่ ซึ่งในปัจจุบันสภาพแวดล้อมดังกล่าวก็ได้เปลี่ยนไปมากจนทำให้หลายประเทศตัดสินใจยกเลิกศาลทหาร หากทหารทำผิดก็ให้มาขึ้นศาลอาญาปกติ เช่น ในอดีต หน่วยทหารมักตั้งอยู่ในที่ทุรกันดารห่างไกลจากเมือง การเดินทางติดต่อสื่อสารทำได้ลำบาก หากต้องส่งทหารที่กระทำผิดมาขึ้นศาลพลเรือนในเมือง ก็จะไม่ทันการณ์ แต่การคมนาคมทุกด้านของโลกยุคใหม่สะดวกรวดเร็วมากขึ้น แม้แต่การส่งตัวผู้กระทำผิดจากทวีปหนึ่งไปอีกทวีปหนึ่ง ก็ไม่ได้เป็นปัญหาอีกต่อไป และการดำเนินคดีของศาลพลเรือนก็รวดเร็วมากขึ้นด้วย
เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง หนึ่งในภารกิจสำคัญของรัฐบาลหลายประเทศในยุโรปตะวันตกลงมือทำคือ ตรวจสอบระบบยุติธรรมแบบทหาร (Military justice) เพราะพบว่ามีคนมากมายเดือดร้อนจากศาลทหารที่ขาดกฎเกณฑ์ชัดเจน ผู้พิพากษา-อัยการไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย หรือมีไม่เพียงพอกับความต้องการ มีการลงโทษอย่างรุนแรง และตามอำเภอใจ ถูกวิพากษ์จากสังคมอย่างรุนแรง ส่งผลให้เยอรมันตะวันตก สวีเดน ออสเตรีย และเดนมาร์คยกเลิกศาลทหารโดยสิ้นเชิง
ในกรณีเยอรมัน หลังฮิตเลอร์ขึ้นครองอำนาจในปี 1933 ระบอบนาซีได้รื้อฟื้นศาลทหาร ที่ถูกยกเลิกไปก่อนหน้านี้ ขึ้นมาใหม่ ศาลทหารยุคนาซีได้ละเมิดสิทธิของทั้งทหารและพลเรือนอย่างกว้างขวางรุนแรง เมื่อสงครามโลกยุติลง เยอรมันตะวันตกจึงยกเลิกศาลทหารทันทีในปี 1946
สำหรับบางประเทศ ที่ยังมีศาลทหารอยู่ ก็ไม่ได้นิ่งเฉย เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบอร์ก สวิสเซอร์แลนด์ อิตาลี นอร์เวย์ และแคนาดา รัฐบาลและรัฐสภาของประเทศเหล่านี้พยายามให้พลเรือนเข้าไปมีอำนาจควบคุมตรวจสอบและมีส่วนเกี่ยวข้องในการทำงานของศาลทหารมากขึ้น ตลอดจนแก้ไขกระบวนการศาลทหารให้มีมาตรฐานความยุติธรรมตามหลักสิทธิมนุษยชน
ตัวอย่างกรณีอังกฤษ นับแต่ปี 1946 รัฐสภาได้ผ่านกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการทำงานของศาลทหารอย่างมากมาย โดยกำหนดว่า
1. ต้องจัดให้มีทนายอาสาที่เป็น “พลเรือน” ว่าความให้นายทหารที่ถูกดำเนินคดี
2. จัดตั้งสำนักงานอัยการทหารที่เป็นอิสระ พร้อมทั้งจัดตั้งหน่วยงานพลเรือนที่เรียกว่า Judge Advocate General ทำหน้าที่ป้อนผู้พิพากษาพลเรือนให้กับศาลทหาร หน่วยงานนี้เป็นอิสระจากกองทัพ-กลาโหม ผู้พิพากษาในศาลนี้เรียกว่า Judge Advocate โดยผู้พิพากษาเหล่านี้จะต้องได้รับการอบรมเกี่ยวกับโครงสร้างกองทัพ จารีตประเพณี และประวัติศาสตร์การทหาร ก่อนเริ่มปฏิบัติงาน
3. การอุทธรณ์ของทหารจะต้องกระทำในศาลพลเรือน มีผู้พิพากษาสามคนมาจากศาลอุทธรณ์(1)
กระนั้น เมื่อสองปีที่แล้ว ผู้พิพากษาอาวุโสของศาลทหารอังกฤษ นาย Jeff Blackett ยังออกมาวิพากษ์ระบบที่ไม่ยุติธรรมของศาลทหารอังกฤษเอง ที่การตัดสินคดีใช้เสียงส่วนใหญ่ของผู้พิพากษาเพียงแค่ 5 คน หมายความว่า หากมีการลงคะแนน 3:2 หรือชนะเพียงแค่คะแนนเดียว ก็สามารถชี้ขาดต่อชะตากรรมของจำเลยแล้ว Blackett มองว่าไม่ยุติธรรม โดยเขาเมื่อเปรียบเทียบกับระบบศาลพลเรือน ที่ใช้ระบบลูกขุน ที่ต้องได้เสียงขั้นต่ำของเสียงส่วนใหญ่ 10: 2 (2) พูดง่ายๆ คือ หลักฐานที่นำมาตัดสินว่าใครผิดนั้นต้องมีน้ำหนักมากจนทำให้ “คนส่วนใหญ่จริงๆ” คล้อยตามได้
หมายเหตุ ศาลทหารของไทยไม่มีระบบอุทธรณ์ ฎีกา ผู้พิพากษา-อัยการศาลทหารขึ้นตรงกับกระทรวงกลาโหม
(มีต่อ)
(1) Edward F. Sherman, “Military Justice Without Military Control”, The Yale Law Journal, Jan 1973.
(2) “Military judge raises court martial concerns” , 25 June 2013, <
http://www.bbc.com/news/uk-23003483>
https://www.facebook.com/puangthong.r.pawakapan/posts/924963204221106KP150305
nice work i like it visit hear www.gntme.com i think its useful for you
ReplyDeletebuy ex2300-48t juniper ex2300 series ethernet switches, 48-port 10/100/1000baset, 4 x 1/10g sfp/sfp+, we provide fast shipping and free tech support.