2012-01-16

H.ผักพื้นบ้านไทยคุณค่าเพียบ

Pic_227740

สธ. เปิดผลวิจัย พบผักพื้นบ้านไทยคุณค่าเพียบ มีสารหลายชนิดป้องกันโรคมะเร็ง ชะลอแก่ รมช.สาธารณสุขหนุนประชาชนไทยหันมากินผักพื้นบ้าน 4 ภาค ในปี 2555...

เมื่อวันที่ 3 ม.ค. นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รมช.สาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้มีพืชผักสมุนไพรพื้นบ้านหลายชนิด ที่สามารถใช้เป็นยาและเป็นอาหารได้ เช่น สะเดา ผักแพว กะเพรา ซึ่งถือเป็นประโยชน์อาหารไทยยกกำลัง 2 ซึ่งมีลักษณะพิเศษต่างจากอาหารชาติอื่น จึงมีนโยบายให้สำนักโภชนาการ กรมอนามัย ทำการศึกษาวิจัยหาคุณค่าของผักพื้นบ้านที่คนไทยทั้ง 4 ภาค นิยมกินกันอยู่ทั่วไป ทั้งดอก ใบ ยอดอ่อน ฝัก ผล หัว และราก เพื่อเผยแพร่สรรพคุณและส่งเสริมให้มีการนำมาเป็นอาหารบำรุงสุขภาพในปี 2555 เพิ่มภูมิต้านทานโรค และจะให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเผยแพร่ส่งเสริมประชาชนใช้บริโภคและให้โรง พยาบาลในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข นำมาปรุงเป็นอาหารของผู้ป่วยเป็นตัวอย่างประชาชน เมื่อออกจากโรงพยาบาลสามารถนำไปทำกินเองที่บ้านได้


ด้าน นพ.สมยศ ดีรัศมี อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ประเทศไทยมีผักพื้นบ้านมากกว่า 300 ชนิด ส่วนใหญ่จะขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ริมห้วย หนอง คลอง บึง และป่าเขา ในการศึกษาผักพื้นบ้านในปี 2554 นี้ กรมอนามัยได้เก็บตัวอย่างผักพื้นบ้าน รวม 45 ชนิด จาก 4 ภาค ประกอบด้วย ภาคกลาง 12 ชนิด ภาคเหนือ 6 ชนิด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 ชนิด และภาคใต้ 22 ชนิด โดยศึกษาปริมาณสารอาหารที่มีความสำคัญต่อร่างกาย 9 ชนิด ได้แก่ 1.พลังงาน 2.โปรตีน 3.ไขมัน 4.คาร์โบไฮเดรต 5.เบต้าแคโรทีน 6.วิตามินซี 7.ใยอาหาร 8.ธาตุเหล็ก และ 9.แคลเซียม

ผลการศึกษาเมื่อเปรียบเทียบ น้ำหนักทุก 100 กรัมเท่ากัน พบว่าผักพื้นบ้านของไทยทุกชนิดให้พลังงาน โปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตน้อยมาก จึงกล่าวได้ว่าผักเหล่านี้กินแล้วไม่ทำให้อ้วน ผักที่มีแคลเซียมสูงที่สุด 10 อันดับ ได้แก่ 1.หมาน้อย มี 423 มิลลิกรัม 2.ผักแพว มี 390 มิลลิกรัม 3.ยอดสะเดา มี 384 มิลลิกรัม 4.กะเพราขาว มี 221 มิลลิกรัม 5.ใบขี้เหล็ก มี 156 มิลลิกรัม 6.ใบเหลียง มี 151 มิลลิกรัม 7. ยอดมะยม มี 147 มิลลิกรัม 8.ผักแส้ว มี 142 มิลลิกรัม 9.ดอกผักฮ้วน มี 113 มิลลิกรัม และ 10.ผักแมะ มี 112 มิลลิกรัม โดยแคลเซียมมีบทบาทหลักคือ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของกระดูก และป้องกันโรคกระดูกพรุนช่วยในการทำงานของระบบประสาท กล้ามเนื้อ หัวใจ และหลอดเลือด นอกจากนี้ ยังช่วยในการแข็งตัวของเลือดและควบคุมการหลั่งของฮอร์โมนบางชนิด

ผัก ที่มีธาตุเหล็กสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ใบกะเพราแดง มี 15 มิลลิกรัม 2. ผักเม็ก มี 12 มิลลิกรัม 3.ใบขี้เหล็ก มี 6 มิลลิกรัม 4.ใบสะเดา มี 5 มิลลิกรัม และ 5.ผักแพว มี 3 มิลลิกรัม ส่วนธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการสร้างฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง เพื่อนำออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย และมีบทบาทในด้านพัฒนาการและการเรียนรู้สมรรถภาพในการทำงานสร้างภูมิต้านทาน โรค และเกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์ธาตุเหล็ก จะถูกดูดซึมได้ดีต้องรับประทานอาหารที่มีวิตามินซีควบคู่ด้วย

ผักที่ มีใยอาหารสูง 10 อันดับ ได้แก่ 1.ยอดมันปู มี 16.7 กรัม 2.ยอดหมุย มี 14.2 กรัม 3. ยอดสะเดา มี 12.2 กรัม 4.เนียงรอก มี 11.2 กรัม 5.ดอกขี้เหล็ก 9.8 กรัม 6.ผักแพว 9.7กรัม 7.ยอดมะยม 9.4 กรัม 8.ใบเหลียง 8.8 กรัม 9.หมากหมก 7.7 กรัม และ 10.ผักเม่า มี 7.1 กรัม ซึ่งใยอาหารในผัก ทำให้ร่างกายขับถ่ายอุจจาระได้เร็วขึ้น ท้องไม่ผูก ช่วยป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และทำให้การดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดช้าลง ส่งผลให้ลดระดับการใช้อินซูลิน นอกจากนี้ ใยอาหารบางชนิดยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค หัวใจและหลอดเลือด

สำหรับผักที่มีเบต้าแคโรทีนสูง 10 อันดับ ได้แก่ 1.ยอดลำปะสี มี 15,157 ไมโครกรัม 2.ผักแมะ มี 9,102 ไมโครกรัม 3.ยอดกะทกรก มี 8,498 ไมโครกรัม 4.ใบกะเพราแดง มี 7,875 ไมโครกรัม 5.ยี่หร่า มี 7,408 ไมโครกรัม 6.หมาน้อย มี 6,577 ไมโครกรัม 7.ผักเจียงดา มี 5,905 ไมโครกรัม 8.ยอดมันปู มี 5,646 ไมโครกรัม 9.ยอดหมุย มี 5,390 ไมโครกรัม และ 10.ผักหวาน มี 4,823 ไมโครกรัม

ส่วนผักที่มีวิตามินซีสูง 10 อันดับ ได้แก่ 1. ดอกขี้เหล็ก มี 484 มิลลิกรัม 2.ดอกผักฮ้วน มี 472 มิลลิกรัม 3.ยอดผักฮ้วน มี 351 มิลลิกรัม 4.ฝักมะรุม มี 262 มิลลิกรัม 5.ยอดสะเดา มี 194 มิลลิกรัม 6.ผักเจียงดา มี 153 มิลลิกรัม 7.ดอกสะเดา มี 123 มิลลิกรัม 8.ผักแพว มี 115 มิลลิกรัม 9.ผักหวาน มี 107 มิลลิกรัม และ 10.ยอดกะทกรก มี 86 มิลลิกรัม โดยทั้งเบต้าแคโรทีนและวิตามินซี เป็นสารอาหารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ลดการอักเสบ เสริมสร้างภูมิต้านทานโรคในร่างกาย ทำให้ร่างกายแก่ชราช้าลงด้วย.


http://www.thairath.co.th/content/edu/227740

No comments:

Post a Comment